"สุวพันธุ์" ส่งเรื่องให้ พศ.หาข้อมูลลดความขัดแย้งแต่งตั้งพระสังฆราช

สังคม
18 ม.ค. 59
13:34
187
Logo Thai PBS
"สุวพันธุ์" ส่งเรื่องให้ พศ.หาข้อมูลลดความขัดแย้งแต่งตั้งพระสังฆราช
รัฐบาลยังคงยืนยันถึงการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ภายใต้ความเหมาะสม เป็นไปตามกฎหมายและไร้ความขัดแย้ง ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นควรส่งเรื่องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ศึกษาและทบทวนเพื่อลดความขัดแย้ง

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธการหารือกับนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถึงความคืบหน้าการเสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสถาปนาเป็นพระสังฆราช องค์ที่ 20 เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ

แต่เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการหารือกันแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นการพูดคุยในทุกเรื่องที่คาดว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้ง ทั้งเรื่องที่กลุ่มคณะสงฆ์เตรียมออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์และกลุ่มที่จะออกมาคัดค้าน ซึ่งส่วนตัวได้ให้ พศ.ไปศึกษาและทบทวนหาข้อมูลว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดความขัดแย้ง พร้อมทั้งยังไม่มีกำหนดจะประชุมครั้งต่อไป

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการหารือเพิ่มเติมกับนายสุวพันธุ์และปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 โดยระบุว่าได้ชี้แจงหลักการและอธิบายข้อปฏิบัติไปก่อนหน้านี้หมดแล้ว

สำหรับข้อปฏิบัติที่รัฐบาลเคยอธิบายหรือชี้แจงไว้นั้น คือการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ต้องเป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด พร้อมกับยึดหลักการความเหมาะสมและปราศจากความขัดแย้ง

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผ่าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ขอให้ดีเอสไอเร่งรัดการตรวจสอบกรณีการครอบครองรถหรูของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งดีเอสไอรับคดีนี้ไว้ตรวจสอบตั้งแต่ปี 2556

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ถูกเสนอจากมหาเถรสมาคมให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แต่ยังคงมีความเชื่อมโยงกับคดีความ จึงอาจถูกครหาจากสังคมและไม่เหมาะสมที่นายกรัฐมนตรีจะนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่การใส่ร้ายป้ายสีตามที่มีหลายฝ่ายกล่าวหา แต่เห็นว่าดีเอสไอควรเร่งรัดคดีให้ได้ข้อยุติและข้อเท็จจริงปรากฎเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง

ด้านพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ กล่าวว่า กรณีรถหรูดีเอสไอตรวจสอบ 2 กลุ่มคือ รถที่มีราคาเกิน 4 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่กว่า 500 คันและกลุ่ม 2 คือ รถที่มีราคาต่ำกว่า 4 ล้านบาทที่มีอยู่กว่า 5,000 คัน โดยกรณีรถเบนซ์โบราณของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์นั้น อยู่ในกลุ่ม 2 การตรวจสอบที่ผ่านมาพบว่ารถคันนี้ได้แจ้งเลิกใช้งานแล้ว ทั้งนี้ได้ประสานหลายหน่วยงาน เช่น กรมศุลกากร เพื่อตรวจสอบเรื่องเอกสารในกระบวนการนำเข้าและจดประกอบว่าถูกต้องหรือไม่

ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ ยังยืนยันว่าทุกคดีทำตามขั้นตอน ส่วนคดีนี้จะเร่งให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพราะเป็นที่สนใจของสังคมและมีผลเกี่ยวเนื่องกับการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการตรวจสอบเอกสาร ยังไม่มีการเข้าตรวจสอบ ยึดรถตามที่เป็นข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง