ภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน

4 ธ.ค. 53
06:55
1,238
Logo Thai PBS
ภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน

ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นใน 68 จังหวัดของประเทศไทยในปีนี้ มีความรุนแรง และแปรปรวนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลายภาคส่วนเชื่อว่าน่าจะเป็นผลพวงมาจากภาวะโลกร้อน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ ยังไม่ได้เตรียมรับมือ และแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนปรับตัว เพื่อรับมือสถานการณ์ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ดีพอได้ชายวัย 87 ปี ที่ชาวบ้านบางราพาเรียกว่า เป๊าะกาเดร์ ยังคงพายเรือลำเล็กๆ หาอาหารในอ่าวปัตตานี เหมือนกับที่ได้ใช้ชีวิตตลอดมา

บ้านบางราพา อยู่ในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป๊าะการ์เดร์ กล่าวว่า เกือบ 90 ปีในชีวิตของตัวเอง อ่าวปัตตานี เป็นอ่าวที่ปลอดภัย ไม่เคยมีพายุใหญ่ที่สร้างภัยพิบัติเหมือนกับพายุเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับเจ๊ะดาแม และเจ๊ะบูงอ สามีภรรยาวัย กว่า90 ปี แห่งบ้านโต๊ะสะมิแล อ.ยะหริ่ง ทั้ง 2 คน กล่าวว่า เวลาที่มีลมมรสุมหรือพายุ เรือเล็ก เรือใหญ่ จะพากันเข้ามาหาความปลอดภัยในอ่าว แต่น้ำทะเลลูกใหญ่ที่โถมเข้าท่วมหมู่บ้าน ทำให้ชายชราจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมมานับร้อยปีว่า อ่าวปัตตานีเป็นอ่าวที่ปลอดภัย

ประสบการณ์ของชาวประมงพื้นบ้านวัยชรา ไม่สามารถอธิบายภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีหน่วยงานใด ระบุชัดว่า พายุหมุนที่ยกน้ำทะเลขึ้นสูง 2- 5 เมตรเข้าสร้างความเสียหายกับชุมชนรอบอ่าวปัตตานี ในวันนั้นคืออะไร เพราะความไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยในอนาคต นักวิชาการในพื้นที่และชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานี จึงร่วมกันคิดหาหนทางป้องกันด้วยตัวเอง

ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นใน 68 จังหวัดของประเทศไทย ขณะที่หลายพื้นที่ อย่างที่ราบสูงโคราช หรืออ่าวปัตตานี ที่ไม่เคยเกิดภัยพิบัติลักษณะนี้มาก่อน ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลที่บอกได้ทันทีว่ามาจากปัญหาโลกร้อน เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่ความเสียหายแม้จะมาก แต่หากศึกษาถึงต้นเหตุของปัญหาด้านกายภาพภายนอก คือตัวสภาพอากาศ จะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงในเชิงความถี่ ช่วงเวลาและสถานที่ แต่ไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างรุนแรง โดยส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายมาก คือวิธีในการรับมือ และความตระหนักเกี่ยวกับปัญหามากกว่า

ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนะนำให้ทุกภาคส่วน ถอดบทเรียนปรากฎการณ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ หากเกิดภัยพิบัติขึ้นซ้ำอีก โดยเฉพาะปรากฎการณ์ลานินญ่า และเอลนินโญ ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดถี่ขึ้นในอนาคต


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง