พื้นที่การเล่าเรื่องเพศในสังคมไทย

ศิลปะ-บันเทิง
13 มิ.ย. 54
15:35
101
Logo Thai PBS
พื้นที่การเล่าเรื่องเพศในสังคมไทย

ความเข้าใจที่มีต่อเรื่องเพศในสังคมไทย ตลอดจนการเผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ผ่านสื่อสาธารณะ ยังถูกจำกัดด้วยวิธีการทางกฎหมายและถูกมองว่าอยู่ใต้อำนาจของคนบางกลุ่มเท่านั้น หลายคนจึงเห็นว่า การปิดกั้นในลักษณะนี้ไม่เป็นธรรมนักและยังขาดอิสระในการแสดงความคิดเห็น ก่อนนำมาเสนอในวงเสวนาเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ

การแต่งกายเป็นหญิงของผู้ได้ชื่อว่าเป็นพ่อ และฉากการมีเพศสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน และการขายบริการในเครื่องแบบนักเรียน ในภาพยนตร์เรื่อง Insect in the backyard ไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และถูกสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทย ถูกนำมาเป็นกรณีตัวอย่างประกอบการเสวนา พื้นที่กับการเล่าเรื่องเพศในสังคมไทยที่ ธัญญ์วารินทร์ สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเห็นว่า แม้สังคมไทยจะไม่เคยจำกัดในเรื่องเพศ แต่หากมีการนำมาพูดถึงบนสื่อหรือสถานที่สาธารณะ มักถูกเซ็นเซอร์ เพราะสังคมให้ความสำคัญกับเพศภาวะมากกว่าเพศวิถี

ธัญญ์วารินทร์ กล่าวว่า การที่เราให้ความสำคัญกับอวัยวะเพศมากเกินไป ทำให้คนอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง เพราะมันเป็นความลับ เป็นของที่ไม่สามารถพูดให้เป็นปกติ เพราะฉะนั้น ทำไมหนังโป๊คนถึงอยากดูเป็นจำนวนมาก และมีความต้องการทุกคนก็ต้องดู รู้สึกว่ามันตื่นเต้นดี ถ้าทำให้มันเป็นเรื่องปกติเหมือนเป็นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายคนจะให้ความสำคัญน้อยลง

สัมฯ ลักขณา ปันวิชัย นักเขียน กล่าวว่า เราไม่เคยตั้งคำถามว่าความเป็นไทย ที่เชื่อกันอยู่ทุกวันนี้มาจากไหน คือเราไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกต้อง อย่างแขกถามว่าการที่ผู้หญิงไม่ใส่เสื้อคือมรดกแห่งความเป็นไทยแล้วทุกวันนี้เราใส่เสื้อแบบตะวันตกแล้ว ทุกวันนี้คุณจะรักษาความเป็นไทยกลับไปอยู่ในยุคที่เราเปลือยอกกันหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ความเป็นไทยคืออะไร คือ ความเป็นไทยแปลว่าคุณจะอยู่ในปัจจุบันนี้บนโลกใบนี้ร่วมกับคนอื่นอย่างสง่างามอย่างมีศักดิ์ศรี อย่างมีความสุขอย่างไร ไม่ใช่จะกลับไปเป็นแม่พลอย

เรื่องราวทางเพศที่ปรากฎผ่านสื่อต่างๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนัง หนังสือพระตำหรับยาแก่กล่อนโดยพิสดาร และนิตยสารโป๊ทั่วไป ถูกนำมาเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการเผยแพร่ที่มีมานานแล้ว และไม่นับว่าเป็นความผิด แตกต่างจากปัจจุบันที่เรื่องเพศ ไม่สามารถเล่าได้อย่างเสรี ซึ่งกลุ่มวิจัยความขัดแย้ง และพหุวัฒนธรรมจัดขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเล่าเรื่องเพศที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย และเปิดมุมมองใหม่ๆ ในกลุ่มนักศึกษา


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง