"บีอาร์เอ็น"ยื่น 7 เงื่อนไขลดรุนแรงช่วง"รอมฎอน" ให้ถอน"ทหาร-ตำรวจ"ออกจากพื้นที่

การเมือง
25 มิ.ย. 56
04:27
46
Logo Thai PBS
"บีอาร์เอ็น"ยื่น 7 เงื่อนไขลดรุนแรงช่วง"รอมฎอน" ให้ถอน"ทหาร-ตำรวจ"ออกจากพื้นที่

ตัวแทนบีอาร์เอ็นประกาศพร้อมยุติปฏิบัติการด้านการทหาร ก่อเหตุร้ายในช่วงเทศกาลเดือนถือศีลอด รอมฏอน แต่พ่วงเงื่อนไขรัฐบาลจะต้องถอนกำลังทหารและตำรวจและตำรวจตระเวนชายแดนทั้งหมด ที่เอามาจากพื้นที่อื่นทั่วประเทศออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องลงนามในคำสั่งดังกล่าว พร้อมย้ำจุดยืนในการเดินหน้าพูดคุยสันติภาพต่อ แต่ต้องให้รัฐสภาให้การรับรองเงื่อนไขห้าข้อที่ได้เสนอมาก่อนหน้านี้

นายฮัซซัน ตอยิบ ตัวแทนบีอาร์เอ็นได้ออกคำชี้แจงผ่านยูทูป ตั้งเงื่อนไข 7 ข้อ ให้รัฐไทยรับปฏิบัติก่อนที่ทางบีอาร์เอ็นจะยุติปฏิบัติการด้านการทหารในช่วงเทศกาลถือศีลอดเดือนรอมฏอน ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนกรกฏาคม เงื่อนไขที่เสนอ เรียกร้องให้ถอนทหารทั้งหมดจากกองทัพภาคที่ 1 ภาคที่ 2 และ ภาค 3 ที่เข้ามาปฏิบัติการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกจากพื้นที่ รวมถึงกำลังตำรวจและตำรวจตระเวนชายแดนที่มาจากต่างพื้นที่ ซึ่งกำลังดังกล่าวจะต้องถอนออกก่อนเข้าช่วงเทศกาลรอมฏอน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐไทย ยุติปฏิบัติการด้านการทหาร ปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมในช่วงดังกล่าว และในตอนท้ายได้ระบุให้นายกรัฐมนตรีต้องลงนามในคำสั่งดังกล่าวภายในวันที่ 3 กรกฏาคม

นายฮัซซัน ยังได้เสนอเงื่อนไขอีก 4 ข้อในตอนท้าย เพื่อให้การพูดคุยสันติภาพเดินหน้าต่อได้ โดยขอให้รัฐสภาของไทยให้การรับรองเงื่อนไข 5 ข้อ ของบีอาร์เอ็นที่ได้เสนอมาก่อนหน้านี้ พร้อมเรียกร้องให้การพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องกระทำอย่างเปิดเผย และขอความชัดเจนในหัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายเจ้าหน้าที่

ก่อนหน้านี้มีข้อสังเกตจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทย เชื่อว่าเกิดความขัดแย้งอย่างหนักภายในบีอาร์เอ็น จากนายอับดุลเลาะ แวมานอ ผู้นำฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็น ที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายการเมือง ซึ่งนำโดยนายฮัซซัน ตอยิบ ข้อเสนอที่มีออกมาเมื่อคืนนี้ (24 มิ.ย.) มีการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายความมั่นคงของไทยที่เชื่อว่าเป็นข้อเสนอเพื่อไม่ให้การพูดคุยเดินหน้าต่อได้ หลังการหารือมา 3 ครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆเกิดขึ้น มีข้อสังเกตด้วยว่าในคำชี้แจงของบีอาร์เอ็น ไม่ได้กล่าวในรายละเอียดของข้อเสนอ 5 ข้อ ที่ขอให้มีการชี้แจงจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในการพุดคุยครั้งที่แล้วเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง