ปฏิบัติการ "ติดปลอกคอช้างป่า" ตามรอยเรียลไทม์

สิ่งแวดล้อม
27 ม.ค. 62
09:49
1,695
Logo Thai PBS
ปฏิบัติการ "ติดปลอกคอช้างป่า" ตามรอยเรียลไทม์
"ไทยพีบีเอสออนไลน์" สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กรมอุทยานฯ ผู้ติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้ช้างป่า (GPS-collar) ครั้งแรกของไทย พร้อมตอบข้อสงสัยวิธีนี้แก้ปัญหาความขัดแย้งของคนกับช้างได้จริงหรือไม่

นำร่องติดปลอกคอจีพีเอส "ช้างป่า" เขตป่าตะวันออก

ดร.ศุภกิจ ระบุว่า ปัญหาช้างป่านอกพื้นที่เขาอ่างฤาไน มีระดับความรุนแรงกว่าพื้นที่อื่นและได้รับผลกระทบจากช้างป่าในขั้นวิกฤต โดยสถิติปัญหาคนกับช้างในพื้นที่ป่าตะวันออก ย้อนหลัง 5 ปี มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจากช้างป่ากว่า 100 คน เสียชีวิตกว่า 50 คน และช้างป่าตายมากกว่า 50 ตัว เป็นอัตราส่วนที่สูงมากหากเทียบกับพื้นที่ป่าอื่น

ป่าตะวันออก มีช้าง 6 กลุ่มใหญ่ที่มักออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สำหรับช้างกลุ่มแรกที่ติดปลอกคอ มีประชากรในโขลงประมาณ 80-90 ตัว ซึ่งการเคลื่อนที่ของช้างกลุ่มใหญ่ในแต่ละก้าวทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ฉะนั้นกลุ่มช้างขนาดใหญ่และอยู่นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์จึงเป็นเป้าหมายหลักของการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม

การดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเฝ้าระวังและป้องกัน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของมาตรการระยะสั้นในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างช้างกับคน ขณะที่ช้างส่วนใหญ่ที่เป็นเป้าหมายติดปลอกคอไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ดังนั้น การนำช้างกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติจึงเป็นเป้าหมายปลายทาง

ช่างป่าตัวแรก ประเดิมติดปลอกคอ

"สีดอพญานาค" คือชื่อที่ทีมงานตั้งให้กับช้างป่าสีดอเพศผู้ ตัวเต็มวัย น้ำหนักประมาณ 3.5 ตัน และมีความสูง 2.7 เมตร เป็นหนึ่งในช้างฝูงใหญ่ที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และเป็น "ตัวแรก" ที่ประเดิมติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2561 ในพื้นที่บ้านหนองกระปอก ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา

ต้องเลือกช้างที่ไม่ได้เป็นตัวนำและไม่ใช่ตัวท้ายสุด เพราะแม้ช้างทั้ง 2 ตัวจะเข้าลักษณะที่ดี แต่เป็นเรื่องยากในการควบคุมสมาชิกช้างที่เหลือ จึงต้องเลือกช้างโตเต็มวัยที่เป็นสมาชิกโขลงและมีน้ำหนักไม่เกิน 4 ตัน

ขณะที่การควบคุมช้างจะใช้ "ยาซึม" เนื่องจากทีมงานมีประสบการณ์ค่อนข้างมากในการจับและเคลื่อนย้ายช้าง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาสลบ เพราะการทำให้ช้างนอนลงอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพสัตว์ การทำให้ช้างยืนหลับ หรือซึมในช่วงเวลาสั้นๆ มีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับตัวสัตว์และทีมงาน การติดปลอกคอช้างใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที แต่การจะทำให้ช้างอยู่ภายใต้การควบคุมได้นั้นกินเวลานานถึง 40-45 นาที

 

การดำเนินการติดปลอกคอ ประกอบด้วยภารกิจ 3 ส่วนหลัก คือ ทีมนักวิจัย ทำหน้าที่ติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้กับช้าง โดยใช้สายรัดคล้องตรงคอ มีตัวล็อกให้ปลอกคออยู่กับที่และให้ชุดส่งสัญญาณอยู่ด้านบนคอช้าง เพื่อให้สัญญาณถูกส่งถึงดาวเทียมได้ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เราได้รับข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันจะมีทีมสัตวแพทย์ ทำการตรวจสอบอัตลักษณ์ของช้าง บันทึกลักษณะทางกายภาพ เก็บตัวอย่างเลือด ตรวจหาดีเอ็นเอ เพื่อนำไปสู่แผนการจัดการประชากรช้างในระยะยาว และทีมเฝ้าระวังและป้องกันช้าง ที่จะติดตามพฤติกรรมการเคลื่อนที่และคุ้มครองนักวิจัยและสัตวแพทย์ระหว่างปฏิบัติภารกิจ จากสมาชิกช้างตัวอื่นของโขลงที่ยืนอยู่รอบๆ

ขั้นตอนไหนยากที่สุด?

ดร.ศุภกิจ เล่าว่า การตามหาช้างหลังจากได้รับยาซึมไปแล้ว เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะช้างไม่หยุดเดินทันที อาจเดินต่อไปอีก 100-200 เมตร หรือไกลกว่านั้น เมื่อช้างรับรู้ถึงความผิดปกติในร่างกายจะไม่เดินในที่โล่ง แต่จะเดินกลับไปในที่รก หรือป่าเพื่อความปลอดภัย  การที่เจ้าหน้าที่เดินเข้าป่าติดตามช้าง 1 ตัวนั้นเป็นความเสี่ยง เพราะมีสมาชิกช้างตัวอื่นๆ ในโขลงของมันอยู่รอบๆ จึงต้องใช้ความระมัดระวัง

การทำงานกับสัตว์ใหญ่ทุกชนิดมีความเสี่ยง ดังนั้นความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องซักซ้อมแผน แบ่งหน้าที่เพื่อให้การทำงานในเวลาที่จำกัดลุล่วงไปด้วยดี โดยหลังจากติดปลอกคอช้างเสร็จและให้ยาแก้เพื่อให้ช้างฟื้นตัวแล้ว ทีมงานต้องออกจากจุดนั้นให้เร็วที่สุด เพราะสัตว์แต่ละตัวมีการตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน บางตัวได้รับยาแล้วฟื้นทันที ประกอบกับโขลงช้างที่อยู่ไม่ห่างกันมาก จึงต้องถอนทีมอย่างรวดเร็ว

สัตวแพทย์จะประเมินตลอดเวลาว่าจังหวะไหนทีมต้องทำอะไร ใครออกก่อน ออกหลัง และออกได้เร็วแค่ไหน

ติดตามผลแบบเรียลไทม์

ปลอกคอสัญญาณดาวเทียมจะส่งข้อมูลตำแหน่งพิกัดของช้าง ณ เวลานั้นๆ ไปให้ศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่ารบกวนประชาชนที่กรมอุทยานฯ และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามทราบ เพื่อให้เข้าถึงจุดที่ช้างอยู่ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถป้องกันและลดความสูญเสียได้ทันการณ์ ปลอกคอสัญญาณดาวเทียมยังส่งรายละเอียดที่เป็นชุดข้อมูลมาให้ทุกๆ ชั่วโมง ทั้งเรื่องอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิแวดล้อม ลักษณะการเลือกใช้พื้นที่ ความสูง ความลาดชัน ความเร็วของการเคลื่อนที่ ทิศทางการเคลื่อนที่ รวมถึงปริมาณอาหารที่ใช้ในแต่ละวัน

ผ่านมากว่า 1 เดือน นับจากติดปลอกคอช้างป่าตัวแรก เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2561 ข้อมูลจากปลอกคอสัญญาณดาวเทียมยังถูกส่งมาทุกชั่วโมง ล่าสุด พฤติกรรมสีดอพญานาค พบว่าเดินจากจุดเดิมที่ได้รับการติดปลอกคอ ลงมาทางใต้ของ อ.ท่าตะเกียบ ประมาณ 15 กิโลเมตร แม้จะแยกตัวออกมาจากกลุ่มใหญ่ที่อยู่ทางตอนเหนือ แต่สีดอพญานาคยังอยู่ร่วมกับสมาชิกโขลงย่อยอีกประมาณ 20-30 ตัว ซึ่งการแยกตัวของโขลงช้างเกี่ยวพันกับเรื่องปริมาณอาหารในพื้นที่นั้นๆ ถือเป็นยุทธศาสตร์การใช้ชีวิตของช้าง แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าช้างจะเดินกลับเข้าป่า

 

หลังการติดปลอกคอสีดอพญานาค ยังพบว่าส่งผลดีกับงานป้องกัน เนื่องจากชุดเฝ้าระวังสามารถเข้าถึงจุดที่ช้างอยู่ และควบคุมช้างไม่ให้เข้าพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูง รวมถึงหมู่บ้านและชุมชน

นอกจากนี้ องค์ความรู้ที่ได้จากข้อมูลปลอกคอสัญญาณดาวเทียมเกี่ยวกับพฤติกรรมช้าง ทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์ กับปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดในการดำรงชีพของช้างว่าเป็นอย่างไร โดยจะต้องนำมาวิเคราะห์สาเหตุและวางแนวทางเพื่อให้ทำได้จริงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือให้ใกล้เคียงกับความต้องการของช้าง

ตอนนี้เราไม่รู้ แต่องค์ความรู้เหล่านี้จะเกิดขึ้นจากการติดตามและเฝ้าระวังต่อเนื่อง เมื่อรู้แล้วว่าช้างต้องการอะไร องค์ความรู้นี้จะถูกพัฒนาในป่าอนุรักษ์ที่เป็นที่อยู่อาศัยจริงๆ ของช้าง

วิธีนี้แก้ปัญหาขัดแย้ง "คน-ช้าง" ได้จริงหรือ?

ดร.ศุภกิจ ให้คำตอบว่า การแก้ไขปัญหาที่เบ็ดเสร็จที่สุดคือ การแยกคนกับช้างป่าออกจากกัน แต่ปัจจุบันยังทำไม่ได้ จึงต้องทำให้คนยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยที่คนไม่สูญเสีย ขณะเดียวกันช้างป่าก็ไม่บาดเจ็บล้มตาย ดังนั้นแนวทางของการอยู่ร่วมกัน จึงเกิดแผนพัฒนาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

มาตรการระยะสั้น ถูกโฟกัสไปที่เรื่องการป้องกันและเฝ้าระวัง เพื่อลดผลกระทบ เป็นแนวคิดหนึ่งที่กรมอุทยานฯ พยายามทำ เพื่อให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ในภาวะที่เราแยกคนกับช้างไม่ได้

แม้ว่าปลายทางจะสามารถนำช้างที่ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กลับคืนสู่ป่าธรรมชาติได้แล้ว แต่ปัญหาอาจเกิดซ้ำ ถ้าช้างยังเดินออกมานอกป่าอนุรักษ์ ฉะนั้นงานติดตามยังจำเป็นและสำคัญ อีกทั้งยังเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก จึงต้องมีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ

 

การติดตามช้างมีต้นทุนและมีความเสี่ยงสูง ในการติดตามช้าง 1 ครั้งจึงต้องทำแล้วคุ้มค่า ซึ่งเทคโนโลยีของสัญญาณดาวเทียมทำให้รู้พิกัดของช้างและข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ช่วยให้การทำงานคล่องตัว และที่สำคัญ เราสามารถแจ้งเตือนให้ชาวบ้านรู้ล่วงหน้า เพื่อให้เตรียมป้องกันและรับมือได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ ในเดือน ก.พ.2562 จะมีการติดปลอกคอให้กับช้างป่าเป้าหมายอีก 2 กลุ่มในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว และ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี

ดวงกมล เจนจบ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ครั้งแรกของไทย! ติดปลอกคอจีพีเอส "ช้างป่า"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง