"ยูนิเซฟ" ออกแถลงการณ์ปมข่าวปลอมช่วง COVID-19 ระบาด

ต่างประเทศ
9 มี.ค. 63
15:25
2,541
Logo Thai PBS
"ยูนิเซฟ" ออกแถลงการณ์ปมข่าวปลอมช่วง COVID-19 ระบาด
รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ออกแถลงการณ์ปมเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในช่วงที่เชื้อ COVID-19 แพร่ระบาด ชี้การส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือนนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัว และการตีตราผู้อื่น ขณะที่การแอบอ้างชื่อหรือองค์กรเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งผิด

วันนี้ (9 มี.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาร์ล็อต เพทรี่ กอร์นิทซ์กา รองผู้อำนวยการฝ่ายภาคีและพันธมิตร องค์การยูนิเซฟ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ในช่วงเวลาเช่นนี้ที่ผู้คนทั่วโลกต่างก็กำลังปฏิบัติตามคำแนะนำที่สำคัญเพื่อป้องกันตนเองและครอบครัวจากเชื้อไวรัสโคโรนา การเตรียมตัวและเฝ้าระวังที่เหมาะสมโดยพิจารณาจากข้อมูลที่ผ่านการพิสูจน์และได้รับการรองรับทางวิทยาศาสตร์นั้นถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในเวลานี้

ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากต่างกำลังแบ่งปันและส่งต่อทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับเชื้อไวรัสและวิธีการป้องกัน กลับพบว่ามีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เป็นประโยชน์หรือน่าเชื่อถือ การส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือนหรือไม่ถูกต้องในช่วงวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพเช่นนี้ จะนำไปสู่การตื่นตระหนก หวาดกลัว และการตีตราผู้อื่นในวงกว้าง อีกทั้งยังส่งผลเสียให้ผู้คนไม่ได้รับการป้องกันและสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเผยแพร่และส่งต่อข้อความที่แอบอ้างว่ามาจากองค์การยูนิเซฟในหลายภาษาทางสื่อออนไลน์ โดยมีการระบุว่าให้หลีกเลี่ยงการทานไอศกรีมและอาหารที่เย็นๆ เพื่อป้องกันโรค ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง

ยูนิเซฟขอให้ผู้ที่สร้างเนื้อหาและข้อมูลเท็จเหล่านี้ยุติการกระทำดังกล่าว เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และพยายามที่จะแอบอ้างชื่อหรือองค์กรอื่นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือนั้นถือเป็นสิ่งที่อันตราย และผิดอย่างมหันต์ และสำหรับสาธารณชน เราขอให้ทุกท่านค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและดูแลตนเองและครอบครัวจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ทางเว็บไซต์ขององค์การยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก (WHO) หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขของภาครัฐ และบุคลากรทางการแพทย์ และขอให้ท่านอย่าได้แชร์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือยังไม่ได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง

ในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมายเช่นนี้ อาจจะเป็นเรื่องยากในการเลือกรับข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการปกป้องและดูแลตัวคุณเองและคนที่คุณรัก แต่การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะส่งต่อหรือแชร์ให้กับคนที่รู้จักก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ยูนิเซฟพยายามอย่างยิ่งในการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับไวรัส โดยได้ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก ภาครัฐบาล และภาคีพันธมิตรบนโลกออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) ลิงค์อิน (LinkedIn) และทิคท็อค (TikTok) เพื่อให้แน่ใจได้ว่า ข้อมูลและคำแนะนำนั้นมีความถูกต้อง และพร้อมที่แจ้งแก่สาธารณชนหากปรากฏข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อู่ฮั่นปิด รพ.ชั่วคราว 2,000 เตียง หลังผู้ป่วย COVID-19 ในจีนลดลง

"อิตาลี" ปิดเมืองสกัดไวรัส ยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง 7,375 คน

"ฝรั่งเศส" พบติดไวรัสเพิ่ม 177 คน คงระดับ 2 การแพร่ระบาด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง