เสนอทบทวนขยายเวลาเกษียณอายุเป็น 63 ปี

การเมือง
14 ก.ย. 63
14:06
21,182
Logo Thai PBS
เสนอทบทวนขยายเวลาเกษียณอายุเป็น 63 ปี
กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ วุฒิสภา เสนอทบทวนแผนปฏิรูปด้านสังคมการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี จากผลกระทบ COVID-19 หวั่นกระทบงบประมาณ

วันนี้ (14 ก.ย.63) นายอำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฎิรูปด้านสังคมกิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ของวุฒิสภา เปิดเผยว่า จากเดิมที่แผนปฎิรูปประเทศด้านสังคม ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2561 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดกรอบการเสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุในการทำงานเกี่ยวกับการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า ผู้สูงวัยยังเป็นพลังงานสำคัญในการทำงานและเพื่อให้ผู้สูงวัยมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ประกอบกับผลสำรวจของสำนักงาน ก.พ.พบว่าในระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 -2565 ) ส่วนราชการ 20 กระทรวง/หน่วย มีความต้องการจ้างงานผู้สูงอายุ มากถึง 2,199 คนหรือคือเป็น ร้อยละ 4.1 ของข้าราชการที่เกษียณในช่วงเวลาดังกล่าวแต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเกิดผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้คณะอนุกรรมธิการฯ ได้ศึกษาสถานการณ์และเห็นว่า ควรจะต้องทบทวน ชะลอ การดำเนินการตามแผนปฏิรูปดังกล่าวจากเหตุผลดังนี้

1.ขณะนี้รัฐบาลกำลังปรับเปลี่ยนแผนการบริหารกำลังคนภาครัฐเพราะค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมดในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งอาจส่งผลต่อการลดกำลังคน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทน

2.จากสถานการณ์ COVID-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบด้านการเงินการคลังเป็น 10 ปี ถ้ามุ่งขยายเกษียณอายุราชการก็จะมีข้าราชการจำนวนมากที่ยังได้รับเงินเดือนและภาระค่าใช้จ่ายต่อภาครัฐต่อไป

3.ที่ผ่านมากฏ ก.พ.เปิดช่องให้ขยายอายุเกษียณอายุราชการเฉพาะสาขาที่จำเป็นและขาดแคลน โดยมีหลายกระทรวงได้ดำเนินการในส่วนนี้อยู่แล้ว

4.หากยังดำเนินการตามแผนปฎิรูปดังกล่าวทีมีการขยายเกษียณอายุราชการต่อไป จะมีปัญหาเรื่องการครองตำแหน่งของข้าราชการ ทำให้ไม่มีตำแหน่งและเงินเดือนใหม่ให้กับข้าราชการที่เข้ารับราชการใหม่ จะกลายเป็นอุปสรรคกับระบบราชการ

5.หากต้องการใช้ศักยภาพในการทำงานของผู้สูงอายุ ก็สามารถจ้างงานในรูปแบบอื่นได้ เช่นแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการจ้างงานตามปริมาณงานและวิชาชีพ ไม่จำเป็นต้องขยายการเกษียณอายุทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางคณะอนุกรรมาธิการฯจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐบาลและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ซึ่งขณะที่อยู่ระหว่างการปรับแผนปฏิรูปทั้ง 13 ด้าน และทางประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคม ก็ได้รับทราบเรื่องดังกล่าว เมื่อครั้งที่ตนไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมแล้ว

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง