อย.ชี้แจง "ผ้าอนามัยแบบสอด" เป็นเครื่องสําอาง ยันไม่ขึ้นภาษี

สังคม
23 ก.ค. 64
06:41
7,450
Logo Thai PBS
อย.ชี้แจง "ผ้าอนามัยแบบสอด" เป็นเครื่องสําอาง ยันไม่ขึ้นภาษี
อย.ชี้แจงกรณีออกกฎกระทรวงกําหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสําอาง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ยืนยันเป็นสินค้าควบคุมและไม่ขึ้นภาษี หลังกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลร้อนแรง #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี ติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์

จากกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดวัตถุอื่นเป็นเครื่องสำอาง พ.ศ.2564 โดยให้ผ้าอนามัยชนิดสอด เป็นเครื่องสำอาง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และ #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ โดยชาวโซเชียลแสดงความคิดเห็นว่า ผ้าอนามัยเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนทุกคน 

ข้อสงสัยที่ชาวโซเชียลกล่าวถึงมากที่สุด คือ หากจัดผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง ราคาผ้าอนามัยดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะเดิมอัตราภาษีผ้าอนามัยธรรมดาอยู่ที่ร้อยละ 7 แต่เมื่อมีประกาศดังกล่าว อาจต้องเสียภาษีในฐานะเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย โดยมีอัตราภาษีอยู่ที่ ร้อยละ 30 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า


วันนี้ (23 ก.ค.2564) ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข และรักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่กฎกระทรวงกําหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดจัดเป็น เครื่องสําอาง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2564 นั้น อย. ชี้แจงว่า ผ้าอนามัยทั้งแบบใช้ภายนอกและชนิดสอด ถูกจัดเป็นเครื่องสําอางตาม พ.ร.บ.เครื่องสําอาง มาโดยตลอด ซึ่งเป็นไปตามคํานิยามของเครื่องสําอางที่เป็นวัตถุที่มุ่งหมายสําหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทําด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ฯลฯ

แต่เมื่อ พ.ร.บ.เครื่องสําอาง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ ได้กําหนดนิยามของเครื่องสําอางให้ใช้เฉพาะภายนอกร่างกาย จึงทําให้ผ้าอนามัยชนิดสอดไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องสําอาง เนื่องจากมีการสอดเข้าไปในร่างกาย ไม่สอดคล้องกับคํานิยามดังกล่าว แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข โดย อย. จึงเห็นสมควรออกกฎกระทรวงให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสําอางดังเดิม เพราะจะได้กํากับดูแลให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานความปลอดภัย ควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ รวมทั้งมีการแสดงคําเตือนที่ฉลาก เพื่อให้ผู้บริโภคได้ศึกษาทําความเข้าใจก่อนใช้ผลิตภัณฑ์

 

ทั้งนี้ ผ้าอนามัยจัดเป็นสินค้าที่มีความจําเป็นในชีวิตประจําวัน เป็นรายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ จึงไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยตามที่เป็นข่าว มีเพียงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนสินค้าชนิดอื่น ๆ เท่านั้น

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า สําหรับข้อควรระวังในการใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดที่ผู้บริโภคควรให้ความใส่ใจ คือ ไม่ควรใช้เมื่อภาชนะบรรจุฉีกขาด ไม่ควรใส่ไว้ในช่องคลอดนานเกิน 8 ชั่วโมง โดยควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4-8 ชั่วโมง ขณะใช้ หากมีอาการเป็นไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นเหียน อาเจียน วิงเวียน หน้ามืด ท้องเดิน หรือมีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง ให้นําผ้าอนามัยออก และรีบไปพบแพทย์ทันที ที่สําคัญการเลือกซื้อผ้าอนามัยชนิดสอด ควรซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ ผลิตภัณฑ์มีฉลากภาษาไทยแสดงข้อความอันจําเป็นครบถ้วน เช่น ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นําเข้า เลขที่ใบรับจดแจ้ง วันเดือนปีที่ผลิต วัสดุที่ใช้ วิธีใช้ คําเตือน เป็นต้น ผู้บริโภคควรอ่านฉลากให้ละเอียดโดยเฉพาะวิธีใช้ รวมทั้งปฏิบัติตามคําเตือนอย่างเคร่งครัด

ยืนยัน "ผ้าอนามัย" เป็นสินค้าควบคุม-ไม่ขึ้นภาษี

ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ผ้าอนามัย เป็นหนึ่งในรายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือร้อยละ 30 ภาษีผ้าอนามัยจึงจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่น ๆ

สอดคล้องกับนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายเพิ่มอัตราภาษีสินค้าผ้าอนามัยแบบสอด แต่หากมีการนำเข้า โดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ก็จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า

ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันว่า ผ้าอนามัยเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เท่านั้น ไม่ได้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่ผู้หญิงต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ผ้าอนามัย" เป็นสินค้าควบคุม ยันไม่เก็บภาษี 

ชาติแรก! สกอตแลนด์ผ่านร่างกฎหมาย "ผ้าอนามัย" ฟรี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง