ศาล รธน.ชี้สมรสชาย-หญิงไม่ขัด รธน. เสนอตรา กม.รองรับ LGBTQ

สังคม
17 พ.ย. 64
18:29
1,430
Logo Thai PBS
ศาล รธน.ชี้สมรสชาย-หญิงไม่ขัด รธน. เสนอตรา กม.รองรับ LGBTQ
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 รองรับสมรสชาย-หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่รัฐสภา ครม. หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรตรากฎหมายรับรองสิทธิบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ

วันนี้ (17 พ.ย.2564) ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ หนึ่งในนั้นเป็นเรื่อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 30/2563)

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสอง (นางสาวพวงเพชร เหงคำ ที่ 1 และนางเพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง ที่ 2) ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ยชพ 1056/2563 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (กรณีขอจดทะเบียนสมรสของบุคคลหลากหลายทางเพศ) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 5 เป็นบททั่วไปที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ โดยมิได้มีข้อความใดที่คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ ไม่จำต้องวินิจฉัยในส่วนนี้

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม โดยมีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

สำหรับมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า "การสมรสจะทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปี บริบูรณ์แล้ว หรือในกรณีมีเหตุสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนหน้านั้นได้ ขณะที่มาตรา 4 และมาตรา 5 เป็นบททั่วไป ที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้​

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

LGBTQ ยื่นหนังสือถึง กมธ. แก้กฎหมาย เปิดทางสมรสเท่าเทียม 

นร.เดินขบวน Pride ยื่นหนังสือ ศธ.เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง