เปิดเบื้องหลังภารกิจช่วยชีวิตช้างป่าแม่-ลูกตกท่อ

สิ่งแวดล้อม
14 ก.ค. 65
15:15
2,028
Logo Thai PBS
เปิดเบื้องหลังภารกิจช่วยชีวิตช้างป่าแม่-ลูกตกท่อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดใจสัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา สัตวแพทย์ประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตัวแทนบอกเบื้องหลังภารกิจช่วยชีวิต "ช้างป่าแม่-ลูก" ตกท่อระบายน้ำพื้นที่ จ.นครนายก หลังกระแสดรามาถล่มเรื่องการทำซีพีอาร์ และการยิงยาซึมจนแม่ช้างตกบ่อ
ภาพที่เห็นคือลูกช้างส่งเสียงร้องเรียกแม่ช้างที่ยืนเฝ้าลูกไม่ห่าง เริ่มอาการก้าวร้าวชัดเจนพยายามจะเอาลูกขึ้นมา ประกอบกับคนเริ่มเยอะทำให้แม่ช้างรู้สึกไม่ปลอดภัย เริ่มงุ่นง่านขึ้น

สัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา สัตวแพทย์ประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หนึ่งในทีมสัตวแพทย์ และทีมงานสัตวแพทย์ อาสามัคร ชาวบ้านกว่า 40 ชีวิต เล่าถึงเหตุการณ์ช่วยชีวิตแม่-ลูกช้างป่าเขาใหญ่พลัดตกบ่อระบายน้ำในพื้นที่หมู่ 2 ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก

เธอเล่าว่า หลังจากได้รับแจ้งช่วงเวลา 05.00 น.ของวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า มีลูกช้างตกบ่อในพื้นที่ ต.สาลิกา จ.นครนายก ได้รีบเดินทางจากบ้านพักใน จ.ปทุมธานี เข้าถึงพื้นที่ 06.00 น.จากนั้นจึงพูดคุยกับทีมงาน และรอทีมปืนที่ต้องเบิกอุปกรณ์มาจาก จ.ปราจีนบุรี กระทั่งเริ่มปฏิบัติภารกิจเวลา 07.00 น.

ภาพที่เห็นคือลูกช้าง ส่งเสียงร้องเรียกแม่ช้างที่ยืนเฝ้าลูกไม่ห่าง เริ่มมีอาการก้าวร้าวชัดเจน เพราะพยายามจะเอาลูกขึ้นมา เดิมวางแผนจะใช้รถน้ำไปบัง เพื่อไม่วางยา และช่วยลูกด้วย แต่จากการประเมินแล้ว พบว่าแม่ช้างเครียดจนวิ่งใส่รถ อาจไม่ปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงาน

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ใช้ยาซึม เพื่อให้ช้างนิ่ง-ยันปริมาณปลอดภัย

ตอนแรกตั้งใจจะฉีดยาซึม 2 เข็มแรกพร้อมกัน เพื่อจะหยุดการเคลื่อนไหวของแม่ช้าง ไม่ให้เคลื่อนที่ไกลมาก และลดความเครียด และความก้าวร้าวลง แต่ปรากฏว่า มีปืนแค่ 1 กระบอกที่ยิงยาออก ส่วนอีก 1 กระบอกลูกดอกยาซึมเข้าไปขัดลำกล้อง ทำให้ยิงไม่ออก จึงยิงไม่โดนช้าง

หลังจากยิงดอกแรกได้แล้ว ดูปฎิกิริยาของช้าง แม่ช้างเริ่มช้าลง จึงยิงอีก 1 ครั้ง ยืนยันว่าใช้ยาซึมที่เหมาะสมกับแม่ช้างที่มีน้ำหนักตัวถึง 3 ตัน และยาเข้าถึงช้างคนละช่วงเวลา ห่างกันเกือบ 20 นาที 

สัตวแพทย์หญิงชนัญญา บอกว่า ยาที่ให้กับแม่ช้างไม่ได้มีปริมาณมากเกินไป เพราะช้างมีความเครียดอยู่แล้ว ทีมงานได้ประเมินแล้วว่า แม่ช้างจะช้าลงหลังยิงยาซึม แต่แม่ช้างยังพยายามที่จะช่วยลูกช้างที่อยู่ในบ่อลึก 2 เมตรที่ส่งเสียงร้องดังมาก จู่ ๆ แม่ช้างลื่นลงไป ในช่วงที่ยืนนิ่งแล้ว เพราะพื้นที่ฝนตกตลอดเวลา จนดินปากบ่อยุบตัวลง กลายเป็นอุบัติเหตุที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น

วินาทีที่เห็นแม่ช้างลื่นลงบ่อไป ช้างใช้ขาหน้ายืนอยู่ส่วนขาหลังพับคาบ่อ ยอมรับว่าตกใจมากที่เจอแบบนี้และได้เห็นภาพลูกช้างที่พยายามกินนมแม่ลื่นลงไป ต้องรีบทำงานแข่งกับเวลา 
สัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

สัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

สัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

สุดดีใจแม่ช้างฟื้น-พาลูกกลับป่า 

เธอเล่าอีกว่า เป็นครั้งแรกที่เจอเคสช่วยช้างตกบ่อ ก่อนหน้าเคยมีประสบการณ์จากกระทิง และช้างตัวอื่นที่เคยล้ม จึงตั้งสติแล้วเร่งประสานนำรถมายกแม่ช้างขึ้นให้เร็วที่สุด และยังอยู่ในช่วงเวลาที่ปลอดภัยการยกช้างขึ้นมา ส่งผลต่อช้าง จะทำให้ช้างถูกปิดกั้นระบบช่องอกในการหายใจ จึงต้องทำงานแข่งกับเวลา

หลังจากยกช้างขึ้นมาแล้วต้องกระตุ้น ทำซีพีอาร์ และฉีดยาแก้ซึมและให้เจ้าหน้าที่กระตุ้นให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงาน ยาที่เข้าเส้นเลือดจะไปแก้กับยาซึมได้เร็วขึ้น

เมื่อถามว่าประเมินว่าช้างจะหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ สัตวแพทย์ชนัญญา บอกว่า หากประเมินว่าหัวใจหยุดเต้นต้องใช้อุปกรณ์ และตรวจวัดหัวใจเต้นในช่องอกค่อนข้างดูยาก แต่สามารถดูจากการกลั้นหายใจได้ ซึ่งถ้ายังอยู่ในช่วงไม่เกินกี่นาที ก็แค่กลั้นหายใจ แต่ถ้านานเกินแสดงว่าหยุดหายใจ

การที่เจ้าหน้าที่ขึ้นไปขย่มบนตัวแม่ช้าง เป็นการกระตุ้น มีแรงกดกระตุ้นให้ช้างใช้ช่องอกหายใจ ซึ่งอาจจะปั๊มหัวใจขึ้น หรือไม่ขึ้นก็ได้ ทุกอย่างอยู่กับตัวสัตว์

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

วินาทีที่แม่ช้างลุกขึ้นมา ก็ดีใจ แต่ก็ต้องวิ่งออกจากแม่ช้างทันที เพราะรู้ว่าเขาสามารถใช้งวงชาร์ตคนที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที จึงรีบออกจากจุดนั้นให้เร็วที่สุด

ตอนนี้ทีมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยังมีชุดลาดตระเวนเข้าตามดูแม่ช้าง และลูกช้างคู่นี้ อยู่ห่างๆ เนื่อง จากพบโขลงช้างที่มารอช่วยเหลือช้างแม่ลูกคู่นี้ ตั้งแต่ตอนตกบ่อแล้ว พบว่าทั้งคู่ยังปลอดภัย ประกอบกับช้างแม่ลูกอ่อนจะหวงลูก และอันตรายมากเข้าใกล้มากไม่ได้ และคาดว่าจะกลับเข้าโขลงได้

ติดตามแม่ลูก-สำรวจบ่อห่วงซ้ำรอยอุบัติเหตุ

นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงกระแสในโซเชียลที่อาจจะติติงเรื่องการช่วยเหลือช้างแม่ลูกว่า การทำงานไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่า จะเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น แต่ขอชื่นชมทีมสัตวแพทย์ และทีมชาวบ้านและอาสาทุกคน ที่แก้ไขปัญหาหน้างานและตัดสินใจได้ทันท่วงที ซึ่งตรงนี้ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ และทุกคนไม่อยากให้เกิดผลเสียกับสัตว์ป่า

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ยืนยันว่า การให้ยาซึมต้องเหมาะกับสัตว์ป่าและเขาจะมีช่วงเวลาที่ช้างจะหยุดนิ่งหลังจากยาออกฤทธิ์ และจะล้มตัวนอน แต่เนื่องจากแม่เป็นห่วงลูกช้างมาก จึงเดินไปที่ขอบบ่อ และจังหวะไปหยุดนิ่งในจุดนั้นพอดี

นอกจากนี้ยังชื่นชมว่า ทีมอีกชุดขึ้นเขาเพื่อทำแนวป้องกันโขลงช้างที่จะตามลงมา โดยให้มีรัศมีห่างประมาณ 1 กิโลเมตร ป้องกันเวลาช้างแม่ร้องเรียกโขลงช้างที่อยู่ด้านบนภูเขาที่จะตามลงมาได้

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

การทำซีพีอาร์ช่วยแม่ช้างที่มีขนาดใหญ่ เป็นเรื่องปกติ ก่อนหน้านี้เคยมีเคสทำซีพีอาร์ช่วยลูกช้างถูกรถชน ที่แก่งหางแมวมาแล้ว เป็นการช่วยถูกวิธี และตัดสินใจหน้างาน ไม่ง่ายที่ต้องตัดสินใจและขอชื่นชมที่เขาตัดสินใจได้ทันทีจนไม่มีความสูญเสีย

นายเผด็จ กล่าวว่า ส่วนการติดตามอาการของช้างแม่ลูก มีการจัดทีมไปคอยเฝ้าระวังแล้ว และเชื่อว่าช้างจะเข้าโขลงได้ เพราะช้างตัวเมียแม่ลูกอ่อน โขลงจะไม่ทิ้งแม่ลูกคู่นี้แน่นอน ส่วนการแก้ปัญหาบ่อทิ้งร้างรอบพื้นที่จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นาทีชีวิต ช่วยช้างป่า "แม่-ลูก" ตกท่อระบายน้ำ ลึก 2 เมตร

ชื่นชมทำ "CPR" ช่วยลูกช้างป่าถูกรถชนจนฟื้นคืนอ้อมอกแม่

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง