ร่วมยกย่องความพยายามปกป้องเพื่อนมนุษย์ ใน "วันมนุษยธรรมโลก" 19 ส.ค.

ไลฟ์สไตล์
16 ส.ค. 66
15:25
423
Logo Thai PBS
ร่วมยกย่องความพยายามปกป้องเพื่อนมนุษย์ ใน "วันมนุษยธรรมโลก" 19 ส.ค.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"วันมนุษยธรรมโลก" คือ การเฉลิมฉลองและยกย่องความพยายามด้านมนุษยธรรม พร้อมไปกับการเผยแพร่แนวคิดในการช่วยเหลือผู้คนในยามวิกฤต สำหรับปี 2566 วันมนุษยธรรมโลกออกแคมเปญรณรงค์ให้ความช่วยเหลือทุกคน ทุกที่ ผ่าน #NoMatterWhat

วันมนุษยธรรมโลกคืออะไร?

เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2546 เกิดเหตุโจมตีสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก คร่าชีวิตเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม 22 ราย รวมทั้ง "เซอร์จิโอ วิเอรา เดอ เมลโล" ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติประจำอิรัก โศกนาฏกรรมดังกล่าวเปลี่ยนสถานะหน่วยงานการด้านมนุษยธรรมไปทันที จากการได้รับความเคารพ กลายเป็นเป้าการโจมตี

5 ปีต่อมา สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติกำหนดให้ วันที่ 19 สิงหาคม เป็นวันมนุษยธรรมโลก (World Humanitarian Day - WHD)

วันมนุษยธรรมโลก ดำเนินการโดย สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ในแต่ละปี WHD จะสอบถามความคิดเห็นจากพันธมิตรหน่วยงานมนุษยธรรมต่างๆ ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการอยู่รอด ความเป็นอยู่ที่ดี ศักดิ์ศรีของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต และเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวบรวมเป็นแคมเปญรณรงค์ในแต่ละปี

แคมเปญในปี 2566 คือ No Matter What หรือ #NoMatterWhat
แสดงให้เห็นถึงจุดยืน เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นใคร และไม่ว่าที่ไหน ก็ตาม 

#NoMatterWhat

ในปี 2566 การรณรงค์ในวันมนุษยธรรมโลก ได้รวบรวมชุมชนด้านมนุษยธรรมทั่วโลก เพื่อฉลองครบรอบ 20 ปีการโจมตีสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ผ่านแฮชแท็ก #NoMatterWhat

จุดประสงค์หลักของนักมนุษยธรรมคือ คอยช่วยชีวิต ปกป้องชีวิต ส่งมอบสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ให้ผู้ประสบภัยสามารถยืนหยัดได้ในสังคมที่พวกเขารับใช้และนำความหวังมาให้ และในปีนี้จะเน้นการตอบสนองความช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก  ที่ไม่ว่าจะมีอันตรายหรือความยากลำบาก นักมนุษยธรรมจะลงลึกเข้าไปในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติและเป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง มุ่งมั่นที่จะช่วยชีวิตและปกป้องผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ

5 ข้อเท็จจริงของการทำงานด้านมนุษยธรรม

  1. ปี 2564 เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม ช่วยเหลือประชาชนจากเหตุโจมตี 460 คน, เสียชีวิต 140 คน, บาดเจ็บ 203 คน และ ถูกลักพาตัว 117 คน

  2. ในบรรดาเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือและเสียชีวิตในขณะปฏิบัติงาน ร้อยละ 98 เป็นเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ (ชาวต่างชาติ) โดยในจำนวนนี้มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53) เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ

  3. ความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในซูดานใต้ อัฟกานิสถาน และ ซีเรีย

  4. ปี 2565 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสงครามในยูเครนจากการโจมตีด้วยจรวดและการทิ้งระเบิด สร้างความเสียหายแก่พลเรือนและเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม

  5. ภาพรวมความต้องการด้านมนุษยธรรมปี 2564 มีประมาณ 20.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ 12.1 ล้านคน คาดว่าต้องการความช่วยเหลืออย่างเฉียบพลัน และ "เยเมน" ประเทศในตะวันออกกลาง เป็นประเทศที่ประสบภาวะวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ที่มา : worldhumanitarianday.org, United Nations 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง