คดีเด็กและเยาวชน กระบวนการยุติธรรมทางอาญา

อาชญากรรม
17 ต.ค. 66
20:10
19,946
Logo Thai PBS
คดีเด็กและเยาวชน กระบวนการยุติธรรมทางอาญา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ด้วยเหตุผล "เด็กและเยาวชน" มีวุฒิภาวะที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งด้านอารมณ์ พฤติกรรม การเรียนรู้ และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เพราะมีประสบการณ์ในการดํารงชีวิตน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก เหตุนี้จึงได้มีกระบวนการยุติธรรมเป็นการเฉพาะขึ้นมา โดยมุ่งแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมมากกว่าการนำตัวเด็กและเยาวชนมาลงโทษ

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงมีข้อถกเถียงในสังคมครั้งแล้วครั้งเหล่า เมื่อเด็กและเยาวชนได้กระทำการที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด จะได้รับโทษตามกฎหมายหรือไม่ และจะได้รับโทษอย่างไร ชวนมาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของ "เด็กและเยาวชน"

"เด็ก" และ "เยาวชน" ต่างกันอย่างไร ? 

  • เด็ก คือ บุคคลที่อายุกว่า 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี
  • เยาวชน คือ บุคคลที่อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์

สําหรับกระบวนการยุติธรรมและข้อกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนของประเทศไทย มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทเรื่อยมา โดยองค์กรของรัฐที่มีบทบาทสําคัญในการดําเนินการโดยตรง คือ ศาลเยาวชนและครอบครัว กับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็ก กระทรวงยุติธรรม

ส่องสถิติคดีอาญา เด็กและเยาวชน ปี 2565 -2566  

ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่าสถิติคดีอาญา 5 อันดับที่พบมากที่สุด ในปี 2565 คือ 1.ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 4,907 คดี 2.เกี่ยวกับทรัพย์ 2,006 คดี 3.เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 1,703 คดี 4.เกี่ยวกับอาวุธ และวัตถุระเบิด 868 คดี และ 5.ความผิดอื่น ๆ 1,503 คดี รวม 12,194 คดี

ส่วนในปี 2566 1.ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ 3,110 คดี 2.เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 2,999 คดี 3.เกี่ยวกับทรัพย์ 2,622 คดี 4.เกี่ยวกับอาวุธ และวัตถุระเบิด 1,530 คดี และ 5.ความผิดอื่น ๆ 1,079 คดี

ขณะที่ช่วงอายุขณะกระทำผิด พบในปี 2565 อายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี จำนวน 10,360 คดี อายุเกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี 1,788 คดี และอายุ 18 ปีขึ้นไป 46 คดี

ส่วนในปี 2566 พบว่า อายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี  มีการกระทำผิด 10,118 คดี อายุเกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี 2,402 คดี และอายุ 18 ปีขึ้นไป 43 คดี

นอกจากนี้ สถิติคดีอาญาในเด็กและเยาวชนพบช่วง 2 ปีล่าสุด คดีอาญาเฉลี่ยปีละกว่า 12,000 คดี โดยพบเกิดขึ้นในเด็กและเยาวชนชายเป็นส่วนใหญ่กว่า 90% ขณะที่เด็กและเยาวชนหญิงมีอัตราอยู่ที่ราว 10% และในช่วง ม.ต้น ถือเป็นช่วงที่น่าเป็นที่สุดเพราะมีสถิติคดีอาญาสูงที่สุด

 "รับ - ไม่รับโทษ" ? คดีอาญาเด็กและเยาวชน

กระบวนการและขั้นตอนในการจับกุมเด็กและเยาวชนนั้น มีความแตกต่างจากกระบวนการที่ใช้เมื่อจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ สำนักงานกิจการยุติธรรม อธิบายถึงกฎหมายหลักที่ใช้ คือ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565

ทั้งนี้ มาตรา 5 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ กำหนดว่า คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กและเยาวชน ทำความผิดให้ยึดอายุของเด็กและเยาวชนในวันที่กระทำผิด

กฎหมายกำหนดด้วยว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวจะเป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณา พิพากษา และมีคำสั่งในคดีที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้ต้องหา ไม่ว่าจะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตาม พ.ร.บ. อื่นๆ 

เนื้อกฎหมายจะมีลักษณะคุ้มครองและให้สิทธิเด็กและเยาวชน โดยจะเน้นแก้ไขและบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมมากกว่าการนำตัวเด็กและเยาวชนมาลงโทษ

ปรับเกณฑ์อายุ เด็กทำผิดอาญา 

สำหรับ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2565 (เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา) มีสาระสำคัญว่า

การปรับเพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญาของเด็กจาก 10 ปี เป็น 12 ปี เพื่อให้มีความเหมาะสมกับเหตุผลทางการแพทย์ มาตรฐานของรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมถึงการปกป้องคุ้มครองเด็ก และการแก้ไขปัญหาเด็กตามกลไกการทบทวนสิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ การสงเคราะห์ คุ้มครองสิทธิ และสวัสดิภาพของเด็ก

โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องรับโทษทางอาญาหรือเป็นผู้ต้องหาที่อ่อนความรับผิดทางอาญาสามารถออกจากกระบวนการยุติธรรมได้เพิ่มขึ้น และได้รับการปฏิบัติในการคุ้มครองสวัสดิภาพที่เหมาะสมกับลักษณะของการกระทำความผิดของเด็กตามหลักอาชญาวิทยา

ทั้งนี้ "การนำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี"

ขั้นตอนจับกุมเด็กและเยาวชน

  • เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า
  • มีพฤติกรรมอันควรสงสัยว่าเยาวชนน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
  • มีเหตุจะออกหมายจับเยาวชนแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้
  • เป็นการจับเยาวชนที่หนีหรือจะหลบหนีระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว

เปิดกระบวนการหลังถูกจับคดีอาญา

เมื่อมีการจับกุมเด็กและเยาวชน (อายุต่ำกว่า 12 - 18 ปี) ตำรวจต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมาย จากนั้นนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยเร็ว ทำการสอบสวนสอบปากคำ ดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย และให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชน ที่ถูกจับไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุม ภายในเวลา 24 ชั่วโมง

| อายุ 12 ปี

พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก (พม.) จะต้องดำเนินการ

– สืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดแนวทางคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก

– จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนแก้ไขฟื้นฟูเด็ก วิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพ การยุติการคุ้มครอง รวมถึงการเยียวยาผู้เสียหาย

| อายุ 12 – 15 ปี

– แจ้งผู้ปกครอง และแจ้งสถานพินิจฯ โดยสถานพินิจฯ จะมีการสืบเสาะและจัดทำแผนแก้ไข้บำบัดฟื้นฟูส่งให้ตำรวจ/อัยการ/ศาล ภายใน 30 วัน

– นำตัวเด็กส่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ภายใน 24 ชม

– ศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาคดี กรณีศาลฯ เห็นว่ายังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะดำเนินการว่ากล่าวตักเตือนปล่อยตัวชั่วคราว (มี/ไม่มีประกัน)

- ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษา/ฝึกอบรม

- มอบตัวเด็กให้อยู่กับบุคคล/องค์กรที่ศาลเห็นสมควร หรือกำหนดเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามภานในระยะเวลาที่กำหนด

| อายุ 15 – 18 ปี

– กรณีศาลฯ เห็นว่า ยังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับเด็กและเยาชนอายุ 12 – 15 ปี

– กรณีศาลฯ เห็นว่า เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ : ลดโทษกึ่งหนึ่งของโทษทางกฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีอาญาหรือสั่งโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ (ถ้าเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิด มีร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และนิสัยเหมือนผู้ใหญ่)

ถึงแม้เด็กและเยาวชน ไม่ได้รับโทษอาญาแต่ยังต้องรับผิดในทางแพ่ง พ่อแม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า คดีในฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย มีแนวโน้มสูงขึ้น และสอดคล้องกับคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิด น่าสนใจว่าคดีที่เกี่ยวชีวิตและร่างกาย ส่วนหนึ่งมีผลจากปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนและโรงเรียน เช่น การล้อเลียน หรือ บูลลี่

ผลสำรวจพบว่าในช่วง 2 ปีหลังสุด (2565-2566) สถิติการก่อคดีอาญามีคดีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตค่อนข้างน้อย และในช่วงอายุ 15-18 มีสถิติการก่อคดีอาญามากที่สุด 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็ก 15 ปี ถูกเพื่อนทำร้าย 3 ปี จนต้องออกจากโรงเรียน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง