ผุดเขื่อนปิดโขง จี้ตรวจสอบ “เขื่อนปากแบง” สำรวจไม่เสร็จ แต่เซ็นสัญญาสร้างแล้ว

สิ่งแวดล้อม
12 ธ.ค. 66
20:00
1,551
Logo Thai PBS
ผุดเขื่อนปิดโขง จี้ตรวจสอบ “เขื่อนปากแบง” สำรวจไม่เสร็จ แต่เซ็นสัญญาสร้างแล้ว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แนะดึง ป.ป.ช.-สตง.ตรวจสอบ “เขื่อนปากแบง” ชี้ยุทธวิธีแม่น้ำ 4 สาย ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิฯ -สภา ส่งจัดทำข้อเสนอส่งนายกฯ ผู้นำท้องถิ่นน้อยใจ รัฐไม่เคยฟังเสียงชาวบ้าน

ระบุพื้นที่เกษตรนับพันไร่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐแจง นักวิชาการชี้ความโปร่งใสในการสร้างเขื่อนไม่มีจริง สส.ก้าวไกลถามหามาตรฐานอีไอเอ

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีการจัดงาน “ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง” งานเริ่มตั้งแต่เช้าด้วยพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้นักป้องป้องแม่น้ำโขงที่เสียชีวิต หลังจากนั้นมีอ่านบทกวี และศิลปะการแสดงสดเพื่อรำลึกถึงอุ้ยเสาร์ ระวังศรี อ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น จิตติมา ผลเสวก ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการออกร้านผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น โดยมีผู้ร่วมงานหลายกลุ่ม นอกชาวบ้านลุ่มน้ำโขงทั้งในภาคเหนือและภาคอีสานแล้ว ยังมีชาวบ้านจากเครือข่ายต่าง ๆ เช่น แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำยม นอกจากนี้ยังมีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตัวแทนสถานเอกอัครราชทูต นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ สื่อมวลชน ฯลฯ

ในช่วงบ่ายมีเวทีเสวนา 2 เวที เวทีแรกเป็นเสียงสะท้อนสภาพปัญหาของแม่น้ำโขงจากชาวบ้านริมแม่น้ำโขง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนเวทีสองเป็นคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนักวิชาการ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

ค้าน “เขื่อนปากแบง” เพราะกลัวอุบัติภัย

นายทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า ได้พยายามตั้งคำถาม แสดงความเห็น และคัดค้านการสร้างเขื่อนปากแบงในลาว เพราะหวั่นเกรงอุบัติภัยในอนาคต

เรื่องใหญ่สุดคือน้ำเท้อ (ปรากฏการณ์น้ำย้อนไหลกลับ) ที่บ้านห้วยลึก จะได้รับผลกระทบเป็นหมู่บ้านแรก และอาจยาวมาถึง อ.เชียงของ คนเชียงของมีที่ดินมรดกบรรพบุรุษ แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ หากเกิดน้ำเท้อขึ้นมา อาจมีปัญหาเรื่องค่าชดเชย

ขณะที่การหาปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จนถึงขณะนี้ไม่มีใครกล้าลงทุนเติมน้ำมันเรือไปหาปลาเพราะไม่ได้ปลา ทำให้ครอบครัวอาชีพประมงต้องลำบาก บ้านแตกสาแหรกขาดเพราะพ่อแม่ต้องเข้าไปหางานทำในเมือง ลูกๆ ต้องอยู่กับตายาย กลายเป็นวิบากกรรมจากการพัฒนาโดยฝีมือมนุษย์

เราเคยทำงานวิจัยเรื่องเกาะแก่งแม่น้ำโขงร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุปกรณ์หาปลาต้องเอาทิ้งหมดเพราะหากินไม่ได้ เช่น แหถี่ใช้ไม่ได้ ผมกังวลมากหากสร้างเขื่อนและเกิดน้ำเท้อ บ้านห้วยลึกสูง 315 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่ทางกรมทรัพยากรน้ำบอกน้ำเท้ออยู่ระดับ 340 เมตร ดังนั้นน้ำจึงท่วมแน่ ๆ

นายทองสุขกล่าวต่อว่า แม้เราต่อสู้ไม่ชนะ แต่เราเป็นพลังกลุ่มบริสุทธิ์ เราไม่ได้คัดค้านหรือต่อต้านถึงขั้นปะทะ แต่พูดด้วยเหตุผลว่า ก่อนทำทำไมไม่ดูผลกระทบก่อน ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ใช่โยนไปโยนมา ตอนนี้เห็นตั้งงบประมาณไว้ 46 ล้านบาท มันกี่หมู่บ้าน ดีใจที่เห็นรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาไปที่บ้านผม ท่านพูดเรื่องทางบก แต่เราอยากพูดเรื่องทางน้ำด้วย

หากมีเขื่อนปากแบง เกาะแก่งจะหายหมด

หากมีเขื่อนปากแบง เมืองมีน้ำเท้อ เกาะแก่งก็หายไป ซึ่งน่าห่วง อยากเรียกร้องเรื่องการดูแลสิทธิชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องเขื่อน ไม่แน่ใจว่าบริษัทได้จ้างคนมาสำรวจความเสียหายจำนวนกี่ไร่ เพื่อชดเชยค่าเสียหายหรือไม่ ชาวบ้านถามไปแล้วเงียบ และปล่อยให้สร้าง ต้องยืนยันให้ได้ว่าพื้นที่ติดริมน้ำเสียหายเท่าไหร่ จะจ่ายค่าชดเชยกันอีกกี่ปี

เมื่อก่อนเขาบอกว่าถ้ามีผลกระทบจะทำลายเขื่อน มันเรื่องจริงเหรอ ผมอยากให้ปิดกระบอกเสียงนี้ก่อน ความเจริญที่เข้ามาทำลายหลายอย่าง ผมต่อสู้เรื่องนี้มา 25 ปี

สำรวจยังไม่เสร็จ แต่เซ็นสัญญาก่อสร้างแล้ว

ด้าน นายมานพ มณีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านปากอิงใต้ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า สอบถามทางการไปแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่า การสำรวจยังไม่แล้วเสร็จ แต่กลับไปลงนามในสัญญาสร้างเขื่อนกันก่อน บริษัททำเพื่ออะไร

สิ่งเหล่านี้ประชาชนพยายามพูดหลายเวที แต่เสียงไม่ดังพอ เป็นเรื่องที่น่าน้อยใจ เพราะคนเชียงของเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น การที่ต้องการพลังงาน ชาวบ้านเข้าใจ แต่ก่อนสร้างทำไมไม่ศึกษา ที่ดินหลายแปลงไม่มีเอกสารสิทธิ หากน้ำท่วมผืนดินเหล่านี้หายไปแล้วใครรับผิดชอบ ได้เตรียมการรองรับหรือไม่ ชาวบ้านจะไปทำกินที่ไหน เคยถามว่าหน่วยไหนเป็นหน่วยงงานหลักเกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอนการเยียวยา ก็ตอบไม่ได้

อยากฝากเสียงเล็ก ๆ ของชาวบ้านไปถึงผู้บริหาร พูดไปเราก็รู้สึกสะเทือนใจเหมือนเราถูกทอดทิ้ง เหมือนเราไม่มีตัวตน เราไม่รู้จะหาคำพูดใหนๆ มาทดแทนความสูญเสีย แต่คนที่ได้ประโยชน์เพียงไม่กี่คน

นายกเล็กม่วงยายห่วงน้ำเท้อ-จมสวนส้มโอ

ทางด้าน นายอภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีเทศบาลม่วงยาย อ.เวียงแก่น กล่าวว่า แม่น้ำงาวไหลผ่าน อ.เวียงแก่น เกาะแก่งผาได จะอยู่ใต้น้ำทั้งหมด เมื่อเกิดน้ำท่วมจะทำให้น้ำเท้อมาถึง อ.เชียงของแน่ ๆ เพราะบริเวณผาไดเป็นคอขวด และสวนส้มโอบริเวณน้ำงาวต้องถูกน้ำท่วมแน่ ๆ

ยิ่งถ้ามีเขื่อนยิ่งทำให้น้ำไหลช้า พืชเศรษฐกิจของเวียงแก่นมี 2,000 ไร่ ถ้าเกิดน้ำท่วมน้ำขังเสียหายไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี เทศบาลรู้สึกกังวลมากว่าทำให้เศรษฐกิจสูญเสียไปเท่าไหร่ ตอนนี้ชาวบ้านยังทราบข่าวไม่มาก เพราะเพิ่งได้ข้อมูล ถ้าชาวบ้านทราบก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

นายอภิธารกังวลใจว่า หากมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอีก วิถีชีวิตของคนพื้นเมือง รวมไปถึงพันธุ์ปลาจะเปลี่ยนไปโดยไม่สามารถกู้คืนมาได้ นี่ไม่นับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว ทั้งเรื่องวัฒนธรรมต่าง ๆ เรื่องกีฬา และการค้าขายชายแดนนั้นจะเปลี่ยนไป

นางปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตื กล่าวว่า ชาวบ้านมีสิทธิเต็มที่ในการเรียกร้องและปกป้องสิทธิของตัวเองและชุมชนซึ่งอยู่ร่วมกันมาเป็นร้อย ๆ ปี โดยมีรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง

ชาวบ้านไม่รู้เรื่องมาก่อนเลยแต่จู่ๆ เอกชนไทยไปเซ็นสัญญากันไว้แล้ว ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน รัฐจึงสอบไม่ผ่านเรื่องนี้ จึงมีหนังสือด่วนถึงนายกรัฐมนตรี 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ขอให้ทบทวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพราะเรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ กสม.อย่างรอบด้าน ประเด็นสำคัญที่ท้วงติงคือชาวบ้านยังไม่รับรู้ข้อมูล และมีการศึกษาพบว่า น้ำท่วมนับสิบหมู่บ้าน แต่รัฐบาลจะหยุดหรือไม่ก็ต้องร่วมกันตรวจสอบ

“วิโรจน์” ระบุสร้างเขื่อนไม่ดูแผนสำรองไฟฟ้า

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เพียงผลกระทบปฐมภูมิ แต่จริง ๆ แล้วยังมีผลกระทบทุติยภูมิในวงกว้างออกไป หากไม่คำนึงถึงตรงนี้ ประเมินผลการศึกษาความคุ้มค่าไม่รอบด้าน

ถามว่าโครงการนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ ส่วนการประเมินความคุ้มค่าไฟฟ้า หลายคนกังวลว่าระหว่างสร้างเขื่อน 7-8 ปี ความเป็นจริงจะตรงข้ามกับในกระดาษ โดยเฉพาะแผนพลังงานชาติที่จะครบปีหน้า ทำไมถึงไม่รอตอนนั้น การสำรองไฟฟ้ามากเกินไปส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้า ถ้าโครงการไม่คุ้มค่าไม่คุ้มทุน ใครจะรับผิดชอบ

ที่สำคัญสุดคือข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับ และการประเมินไม่ใช่แค่ปฐมภูมิ ถ้าคุณจำกัดเอาเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่ากับคุณปั้นตัวเลขให้ต่ำกว่าความเป็นจริง คุณจงใจให้โครงการนี้คุ้มทุนไว้ก่อน เราจะร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้มั้ยยกเลือกสัญญาซื้อไฟฟ้า นายวิโรจน์ กล่าวว่า ต้องเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ไปทำให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ และจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้

นอกจากนี้ยังต้องช่วยกันติดตามแผนพลังงานชาติ และเขื่อนปากแบงว่าสอดคล้องกับแผนหรือไม่ หากมีการปลดระวางก็ต้องตั้งคำถามกับโรงไฟฟ้าที่หมดอายุและต่ออายุ เรื่องนี้ต้องนำไปสู่การอภิปรายในสภาหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยซ้ำ เรื่องนี้ไม่ใช่กระทบแค่คนเชียงของแต่กระทบกับคนทั้งประเทศ ทุกวันนี้ทุกคนยังต้องผัดผ่อนหนี้ค่าไฟฟ้าซึ่งไม่จีรัง

อยากให้ใช้กลไก ป.ป.ช.และ สตง.ด้วย นอกจาก กสม. อะไรที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ถ้าดึงเอาแนวร่วมองค์กรอิสระเข้ามาสื่อสาร จะทำให้มีน้ำหนัก ส่วนในสภา เราจะดำเนินการอยู่แล้ว เป็นแม่น้ำ 4 สาย หากนายกฯไม่ทบทวนก็อาจถูกข้อหาละเว้นปฎิบัติหน้าที่ อย่างน้อยให้ประชาชนสิ้นข้อสงสัยหากจะทำจริง ๆ

ผู้แทนจีนแจง 5 ประเทศร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน

วันเดียวกัน ในช่วงบ่าย มีวงเสวนา “ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง” โดย มี ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางหลี่ จิ้น เจียง ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, นายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โดยมี น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ดำเนินรายการ

นางหลี่ จิ้เจียง ผู้แทนสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านการเมือง กล่าวว่าในฐานะที่เป็น ผู้แทนสถานทูตจีนเพียงคนเดียวบนเวทีเสวนานี้ อยากพูดถึง วิสัยทัศน์ในการทำงานของจีน ตั้งแต่ต้นน้ำโขงในจีนเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง จีนกับ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน มีความเชื่อมโยงเป็นเพื่อนมิตรที่ดี

ปี 2559 มีการเปิดตัวความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lanchang Mekong Cooperation หรือ LMC) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. รัฐมนตรี 6 ประเทศ ร่วมประชุมกันที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจะมีความร่วมมือกันมากมาย ในฐานะที่มีกลไกร่วมหารือ พัฒนาแบ่งปันกัน ได้รับความร่วมมืออย่างดี ปีที่แล้ว มูลค่าการค้ากับจีน 510.17 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 2 เท่าจาก 7 ปีก่อน เทศกาลผลไม้ในลุ่มประเทศน้ำโขง มีการนำเข้าทุเรียน รังนก ลำไย มะพร้าวสด เข้าจีน

นางหลี่ กล่าวอีกว่า กลไกด้านเกษตร มีการนำเข้าฝึกอบรมความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรกว่า 1พันคน ช่วยยกระดับด้านเกษตรแก่ประชาชน โดยไทยเป็นผู้ริเริ่ม LMC และจะเข้ารับตำแหน่งประธาน LMC ในอนาคตด้วย

มีการอนุมัติกว่า 70 โครงการ มูลค่า 20 ล้านดอลล่าร์ ผ่านโครงการต่าง ๆ ของไทย LMC คือการพัฒนา สำหรับจีนการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกระดับชีวิตประชาชน คือความเร่งด่วนในปัจจุบัน

สุดท้ายนี้ขออวยพรให้อนาคตลุ่มประเทศน้ำโขงมีอนาคตที่สดใส เชื่อว่าภายใต้ความร่วมมือ แม่น้ำ Mother River จะสดใส เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาชน

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับเขื่อนบนแม่น้ำโขง และเรื่องภัยแล้ง มีข่าวที่โทษจีนว่า เขื่อนบนแม่น้ำลานช้าง ทำให้เกิดภัยแล้ง รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเกี่ยวกับความคิดเห็นของเพื่อนมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง

จีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมาร่วมกันศึกษาด้วย กับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อหาหลักฐานว่า เป็นผู้ก่อภัยแล้งให้ปลายน้ำไม่ใช่จีน ปริมาณน้ำโขงในส่วนล้านช้าง มี 13.5 % ที่แชร์กับแม่น้ำโขงตอนล่าง พื้นที่บริเวณของแม่น้ำล้านช้าง คือ 20 % ปีที่เกิดภัยแล้ง ที่จีนในยูนนาน ที่น้ำโขงไหลผ่าน ก็เกิดภัยแล้งเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

มีการติดตั้งสถานีวัดน้ำที่ท้ายน้ำในแม่น้ำโขง เราแบ่งปันข้อมูลน้ำกับประเทศตอนล่าง ร่วมทั้งความพยามรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศต่าง ตอนนี้เขื่อนของเรา ปล่อยน้ำในฤดูแล้ง เก็บน้ำในฤดูฝน ฟังทุกท่านแล้วคิดว่า รู้สึกว่า เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ต้องแก้ไขปัญหาด้วย แบ่งปันข้อมูลกัน เราต่างดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน

ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม่น้ำโขงมีความหมายสำหรับคนพื้นที่ แต่ถ้าคนกรุงเทพฯ แล้ว แม่น้ำโขงอยู่ไกลมาก

ความรู้สึกรู้สากับแม่น้ำโขง จะต้องถามไถ่คนที่ผูกพันกับคนใกล้แม่น้ำให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนไม่ได้ถามไถ่คนใกล้แม่น้ำเลย เวลาเขาทำสัญญาก็เป็นสัญญา ที่คนพื้นที่ไม่ได้รู้ ไม่ได้อ่านด้วยเลย

มันสะท้อนใจมากว่าการตัดสินใจเรื่องการสร้างเขื่อน กับคนที่ได้รับผลกระทบ ในโครงสร้างอำนาจ มันไกลกันเหลือเกิน กว่าจะได้ยินเสียง มันต้องใช้หลายช่องทางมาก ผมสะท้อนใจเวลาได้ฟังจากชาวบ้านว่า มันกระทบมาก ทั้งทางตรงทางอ้อม เราศึกษากันยังไงถ้ากระทบใคร จะดูแลกระบวนการ ผลกระทบบ้าง คนรับผิดรับชอบไม่มี มีแต่การสร้าง ทำสัญญา และอ้างแต่ข้อมูลว่า ประเทศเราต้องการไฟฟ้า

ปัจจุบันการสร้างเขื่อน ประเทศไหนสร้างก็เป็นอธิปไตยประเทศนั้น กลายเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศแบ่งเป็นเสี้ยวๆ แต่ผลกระทบมันกว้างไกลเกินกว่าประเทศนั้นจะดูแล

นายสุริชัยกล่าวอีกว่า เกิดคำถามที่ผู้แทนทูตจีนพูดว่า ใครจะตรวจสอบการตัดสินใจพัฒนาเหล่านี้ ว่ามีความยุติธรรมไหม มันไม่มีความชัดเจนและไม่ยุติธรรม วันนี้เราได้ยินกับหูว่าความโปร่งใสเรื่องสร้างเขื่อนปากแบงมันไม่มีจริง และการซื้อพลังงานทั้งที่เรามีพลังงานสำรองถึง 69 %

เมื่อรับผิดชอบไม่ได้ก็ผลักภาระไปสู่อนาคต กลายเป็นว่า เราจะสร้างระบบที่ตรวจสอบร่วมกันไม่ได้ ภาคประชาสังคมผู้ได้รับผลกระทบ ถ้าเรารู้สึกว่าแม่น้ำเป็นของเราทุกคนมันไกลกว่าอธิปไตยของใครของมัน ในความรับผิดชอบของความเป็นมนุษย์ มันต้องกว้างกว่านั้น กว้างกว่าระดับรัฐบาล พี่น้องข้ามพรมแดนได้แลกเปลี่ยนกัน ผ่านสังคมออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง

นายสุริชัย กล่าวว่า มีการประชุม MRC ครั้งหนึ่งที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รัฐมนตรีจากจีนมาประชุมด้วย จนมีการตอบสนองข้อมูลจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน เป็นครั้งแรกที่จีนได้แสดงท่าทีที่เป็นประโยชน์ในการแชร์ข้อมูล ให้คนแม่น้ำโขงตอนล่าง หลักอธิปไตยเป็นเรื่องหนึ่ง

เพราะให้แต่รัฐบาลตัดสินใจ ชาวบ้านไม่มีส่วนตัดสินใจเลย การแชร์ข้อมูลจึงไม่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันมีออนไลน์ เราสื่อสารได้หลากหลายมาก เราจะแก้ปัญหาข้อมูลที่ล่าช้ายังไง ชาวบ้านจะยังรอคอยแบบน้ำตาไหลน้อยอกน้อยใจอีกไหม การสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการตัดสินใจของประเทศลุ่มโขง สำคัญมากกว่าอธิปไตยของแต่ละประเทศ ระบบ MRC-LMC ต้องช่วยรองรับกลไกนี้

ภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันมีจุดอ่อนสำคัญ ไม่ให้ความสนใจต่อความเสื่อมสลายของระบบนิเวศ และให้อำนาจกับเมืองหลวงในการตัดสินใจ ผลประโยชน์ของประเทศ กับผลประโยชน์ของประชาชน น่าจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นายศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้ฟังความคิดเห็นของชาวบ้านแล้วมีความเห็นในทางเดียวกัน เราคิดเห็นแนวเดียวกันกับชาวบ้านว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนมีมากขึ้น จะทำอย่างไรต่อ ถ้า EIA ชี้ให้เห็นว่าไม่ผ่าน เขื่อนจะไม่ถูกสร้างหรือไม่

คำถามคือกระบวนการทำ EIA มาตรฐานในการจัดทำคืออะไร ถ้ากำหนดนโยบายระยะยาว มันสอดคล้องกับมาตรฐานระดับนานาชาติแค่ไหน ดังนั้นถ้าเราทำประเมินผลกระทบอย่างครอบคลุม ทั้งแม่น้ำสายหลัก สายรอง ไปจนถึงอัตราค่าไฟต้นทุนพลังงาน สัญญาแบบ Take or Pay

ไทยเรามีรูปแบบสัญญาซื้อไฟฟ้าที่แปลก คือไม่ว่าต้นทุนจะต่ำลงเพียงใด ไฟฟ้าที่ซื้อมาใช้หรือไม่ใช้รัฐจ่ายเงินทุกกรณี เราจะต้องจ่ายในอัตราที่สัญญากำหนด จึงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวน ดังนั้นการศึกษาผลกระทบอย่างครอบคลุมเพียงพอ จึงสำคัญต่อการสร้างเขื่อน

ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลมีกรรมาธิการ พัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาผลกระทบครอบคลุม เราจะเชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปปช. เราจะรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะมีแอคชั่นอย่างไรต่อ ถ้านิ่งเฉยก็จะถือว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 187

ในขณะที่ศาสตราจารย์ ฟิลิปส์ เฮิร์ช จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า ถ้ามองกลับไปยาวๆ การเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงหลายร้อยปี เราคาดการณ์ได้ แค่ปัจจุบันเราไม่รู้แล้วว่าระดับน้ำขึ้นลงเป็นอย่างไร

เราได้ยินผลกระทบจากเขื่อนมาตลอด การเปลี่ยนแปลงเกิดตลอดทั้งลุ่มน้ำ ไม่ได้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เราได้ยินปัญหาเรื่องประเมินผลกระทบ จากการมีส่วนร่วม ใช้ข้อมูลน้อยมาก ดังนั้น ทำอย่างไรให้กระบวนการศึกษาผลกระทบรอบด้านจริง ๆ โดยเฉพาะประเด็นความจำเป็นด้านพลังงานของไทย

 

อ่านข่าวอื่นๆ

มท.สั่งทุกจังหวัดคุมเข้ม หลังเหตุใช้อาวุธปืนข่มขู่-ยิงลูกหนี้นอกระบบ

ไขคำตอบ! "ฝุ่นพิษ" กทม.อากาศปิด-เผาพท.เกษตรอ่วมอีก 5 วัน

เอกชนแนะหนีปรับขึ้นค่าแรง ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง "แทนคน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง