"โลงผีแมน" ถอดรหัส DNA มนุษย์โบราณ 1,700 ปี

สังคม
9 ก.พ. 67
19:35
964
Logo Thai PBS
"โลงผีแมน" ถอดรหัส DNA มนุษย์โบราณ 1,700 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โลงไม้ และโครงกระดูกมนุษย์ ที่ค้นพบภายในถ้ำ ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อ 23 ปีก่อน และถูกเรียกขานว่า "โลงผีแมน" จากการศึกษาพบข้อมูลใหม่เป็นโครงกระดูกมนุษย์โบราณ มีอายุกว่า 1,700 ปี

วันนี้ (9 ก.พ.2567) นักโบราณคดีจาก ม.ศิลปากร เผยผลงานวิจัย ล่าสุด ที่ได้รับการตีพิมพ์จากวารสารทางวิชาการและสังคมดังระดับโลก หลังจับมือสถาบันดังของโลกในเยอรมนี ร่วมกันศึกษาดีเอ็นเอโบราณของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในป่าเขตร้อน จนได้ข้อมูลใหม่มนุษย์โบราณในประเทศไทยอายุกว่า 1,700 ปี นับเป็นต้นแบบการศึกษาด้านมนุษย์โบราณและวัฒนธรรมโลงไม้สำหรับพื้นที่อื่น ในอาเซียนและเอเชียตะวันออก

ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีบนพื้นที่สูงและริเริ่มการขุดค้นแหล่งโบราณคดีใน จ.แม่ฮ่องสอน มากกว่า 20 ปี เปิดเผยถึง ผลงานวิจัยโครงการ “มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงใน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน”

โดยนำเสนอข้อค้นพบใหม่ ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนในวงวิชาการ ทั้งด้านโบราณคดีและพันธุศาสตร์ เช่น ผลลำดับเบสที่สมบูรณ์ของตัวอย่างโบราณในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และโครงสร้างและปฏิสัมพันธ์ของคนโบราณที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมโลงไม้ อันเป็นต้นแบบการศึกษาด้านมนุษย์โบราณและวัฒนธรรมโลงไม้สำหรับพื้นที่อื่น ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลงานวิจัยดังกล่าว คณะวิจัยจากสหสาขาได้ร่วมกันสำรวจและขุดค้นพบชิ้นส่วนมนุษย์โบราณและร่องรอยของวัตถุทางวัฒนธรรม ภายในโลงไม้ภายในถ้ำและเพิงผาต่างๆ บนพื้นที่สูง เขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีอายุเก่าแก่ราว 2,300 ถึง 1,000 ปีมาแล้ว ซึ่งนอกจากจะใช้ข้อมูลด้านโบราณคดีแล้ว ยังจำเป็นต้องบูรณาการความรู้เพื่อให้นักวิชาการได้ข้อมูลของคนในอดีต รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคนและสิ่งแวดล้อมอย่างลุ่มลึก

ด้าน รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ซึ่งสนใจศึกษาดีเอ็นเอในกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และทีมนักวิจัยนานาชาติของสถาบันวิจัย Max Planck Institute for Evolutionary anthropology ประเทศเยอรมนี นำโดย ดร.เซลิน่า คาร์ลฮอฟ ซึ่งได้ศึกษาดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในชิ้นส่วนกระดูกและฟันโบราณ จำนวน 33 ชิ้น อายุกว่า 1,700 ปี ที่พบภายในแหล่งโบราณคดีประเภทถ้ำของวัฒนธรรมโลงไม้บนพื้นที่สูงใน อ.ปางมะผ้า โดยการสกัดดีเอ็นเอโบราณได้ในสภาพแวดล้อมแบบป่าเขตร้อน

การศึกษาดีเอ็นเอโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสประสบความสำเร็จค่อนข้างยาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีอากาศแบบร้อนและชื้น เป็นปัจจัยเกิดการเสื่อมสลายของดีเอ็นเอในตัวอย่างโบราณ และปัจจุบันมีรายงานการศึกษาดีเอ็นเอโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผลการศึกษาที่ไม่สมบูรณ์มากนักจากตัวอย่างเพียงไม่กี่ชิ้น เช่น จากแหล่งโบราณบ้านเชียงที่มีเพียง 2 ชิ้น ดังนั้น ผลการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นผลการศึกษาดีเอ็นเอโบราณที่สมบูรณ์ที่สุด ณ ปัจจุบันในแง่ของจำนวนตัวอย่างและคุณภาพของดีเอ็นเอที่ได้

ศ.ดร.รัศมี กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยดังกล่าว ช่วยขยายพรมแดนความรู้เรื่องเส้นทางและละลอกของการเคลื่อนย้ายของคนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในช่วง 1,700 ปีมาแล้ว โดยพบว่า คนโบราณที่ อ.ปางมะผ้า อยู่ในสมัยเหล็ก มีพันธุกรรมที่คล้ายกับประชากรโบราณในสมัยหินใหม่จาก 2 พื้นที่ คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีและที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลืองของประเทศจีน ซึ่งแตกต่างจากคนโบราณในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงสมัยสำริด อันเนื่องจากเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนในอดีตที่แตกต่างกัน การเคลื่อนย้ายของคนโบราณในภาคเหนือจะผ่านทางลุ่มแม่น้ำสาละวินในเขตพื้นที่สูงด้านตะวันตกของไทย ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะผ่านมาทางแม่น้ำด้านตะวันออกได้แก่แม่น้ำแดงและแม่น้ำโขง

การศึกษาครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ข้อมูลดีเอ็นเอเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของโบราณที่อาศัยอยู่ในถ้ำเดียวกันและระหว่างถ้ำในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทั้งยังสะท้อนถึงโครงสร้างของประชากรโบราณที่มีขนาดใหญ่ มีปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่ และความสัมพันธ์ทางเครือญาติมีความสำคัญต่อพิธีกรรมการฝังศพของคนในชุมชน โดย ดร.เซลิน่า กล่าวว่า “ดีเอ็นเอโบราณทำให้เข้าใจการปฏิสัมพันธ์ของชุมชนในอดีต ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ของผู้คนในระดับภูมิภาคได้”

อ่านข่าวอื่นๆ :

ปิดอ่าว! ดีเดย์ 15 ก.พ.-15 พ.ค.นี้ คุ้มครองปลาทูวางไข่

"ป่าสลักพระ" เพลิงผลาญ 1 หมื่นไร่ เสริมเสือไฟ 250 นาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง