เปิดตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุ "ไฟฟ้าช็อต"ในภาวะน้ำท่วม แนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน

สังคม
25 พ.ย. 54
09:55
25
Logo Thai PBS
เปิดตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุ "ไฟฟ้าช็อต"ในภาวะน้ำท่วม แนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน

เหตุไปจับหรือแตะปลั๊ก สวิทซ์ไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าในขณะที่ตัวเปียกน้ำ หรือจับสิ่งที่สามารถเป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น เหล็ก หรือไม้ที่เปียกน้ำซึ่งสัมผัสกับสายไฟ รวมถึงการเข้าไปใกล้บริเวณที่มีเสาไฟฟ้าหรือสายไฟที่รั่วในรัศมีน้อยกว่า 2 เมตร

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สรุปสถานการณ์ผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าช๊อตในพื้นที่น้ำท่วม (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ต.ค.2554) โดยมีรายงานผู้ที่เสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าช๊อตในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมทั้งหมด 36 ราย ใน 15 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง โดยจังหวัดที่มีรายงานผู้ที่เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวมากที่สุดคือนนทบุรี 9 ราย รองลงมาคืออยุธยา 6 ราย ลพบุรีและนครปฐมจังหวัดละ 3 ราย

ทั้งนี้ผู้ชายเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง 2.6 เท่า โดยผู้เสียชีวิตมีอายุน้อยสุด 16 ปี มากที่สุด 79 ปี และเสียชีวิตในตุลาคมมากที่สุด (20ราย) รองลงมาคือ กันยายน (13ราย) และเดือนสิงหาคม ๓ ราย เกือบครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิต (ร้อยละ 47) เกิดในช่วงสัปดาห์แรกหลังวันที่น้ำเริ่มท่วม  ร้อยละ 12.5 เกิดวันเดียวกับที่น้ำท่วม แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่เสียชีวิตหลังจากที่น้ำท่วมไปแล้วหลายเดือน โดยระยะเวลาที่นานที่สุดที่พบคือ 3 เดือน

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ สัมผัสกับปลั๊กไฟฟ้า หรือสวิทช์ไฟฟ้า ในขณะที่ตัวเปียกน้ำ หรือร่างกายแช่อยู่ในน้ำ โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตในบ้าน 19 ราย (ร้อยละ 53)  ส่วนมากน้ำท่วมบ้านและผู้เสียชีวิตสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ปลั๊กไฟ ตู้เย็น ปั๊มน้ำ ชาร์ตสายโทรศัพท์มือถือ หรือสัมผัสเครื่องใช้ที่มีคุณสมบัติเหนี่ยวนำไฟฟ้า เช่น จับกรงนกที่เป็นเหล็ก  เปิดประตูเหล็กที่มีสายไฟลอดข้างใต้  ใช้กิ่งไม้เกี่ยวสายไฟที่พาดหลังคา ส่วนผู้เสียชีวิตขณะเดินทางมี 6 ราย (ร้อยละ 17) เช่น พายเรือแล้วไม้พายซึ่งเปียกน้ำ ไปพาดกับสายไฟ พายเรือเหล็กไปเก็บของบริเวณบ้านและโดนไฟฟ้ารั่วบริเวณบ้าน ออกมารับถุงยังชีพแล้วจับเหล็กรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวที่แช่น้ำซึ่งล้มทับสายไฟฟ้า ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟบริเวณนิคมอุตสาหกรรมที่น้ำท่วม เป็นต้น และมี 2 ราย (ร้อยละ 6) เสียชีวิตในที่อื่นๆ เช่น ในเต็นท์ศูนย์พักพิงขณะพันสายไฟบนถนน ขณะเปิดไฟสาธารณะในช่วงที่ฝนตกร่างกายเปียกชื้น และเสียชีวิตในสวน ขณะที่ตัดต้นกล้วยแล้วต้นกล้วยเกี่ยวสายไฟขาดลงมาจุ่มกับน้ำ

โดยระยะห่างของของปลั๊กไฟฟ้า หรือสวิทช์ไฟฟ้า หรือเสาไฟฟ้า หรือสื่อนำไฟฟ้าที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุของการถูกไฟฟ้าช๊อตเสียชีวิต ส่วนใหญ่จะสัมผัสโดยตรง มีเพียงรายเดียวที่อยู่ห่างจากสื่อนำไฟฟ้าดังกล่าว 1.5 เมตร

- กฟน.แนะนำวิธีเข้าบ้านให้ปลอดภัย ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าหลังน้ำลด 
http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php?topic=2034.0

- คำแนะนำในการป้องกันถูกไฟฟ้าช๊อตในพื้นที่น้ำท่วมโดย สำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค
http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php/topic,2034.msg2320.html#msg2320

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง