นักข่าวต่างชาติ สนใจประเด็น"ผู้ประสบภัย" ยื่นฟ้องค่าเสียหายจากรัฐ กรณีน้ำท่วม

Logo Thai PBS
นักข่าวต่างชาติ สนใจประเด็น"ผู้ประสบภัย" ยื่นฟ้องค่าเสียหายจากรัฐ กรณีน้ำท่วม

เป็นกรณีตัวอย่างคดีแรกของโลกที่ภาคประชาชนรวมตัวกันฟ้องรัฐเพื่อเรียกค่าเสียหาย กรณีความผิดพลาดล้มเหลวในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศหลายสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงในอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ให้ความสนใจความเคลื่อนไหวของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นอย่างมาก กรณีทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ในการช่วยเรียกร้องสิทธิให้กับประชาชนในกรณีน้ำท่วมที่ผ่านมา เพราะถือว่าเป็นกรณีตัวอย่างของโลก ที่องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของประชาชนในการเรียกร้องค่าเสียหายผ่านกระบวนการทางศาลปกครอง อันเนื่องมาจากความผิดพลาด ล้มเหลวของการบริหารจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายแก่ประชาชนมากกว่า 3 ล้านคน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ เดอะ โยมิอูริ ชิมบุน (THE YOMIURI SHIMBUN)  จากประเทศญี่ปุ่น ให้ความสนใจถึงกรณีความเสียหายของนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งที่ถูกน้ำท่วมไปนั้น และมีการกู้นิคมโดยการสูบน้ำออกทิ้งมายังภายนอกนิคมกระทบต่อชาวบ้าน เพราะมีสารเคมีและขยะพิษเจือปนนั้น สมาคมฯมีแนวทางการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งสมาคมฯ ได้ทำหนังสือแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กนอ. กรมโรงงานฯ กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษทราบแล้ว และเรื่องนี้ต้องมีคำตอบและคำอธิบายจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หากภาครัฐไม่ดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายสมาคมฯจะต้องฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปแน่นอน

ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดี้ยน (THE GARDIAN) ของอังกฤษ ให้ความสนใจถึงปัญหาสภาวะโลกร้อน มีผลต่อกรณีน้ำท่วมในประเทศไทยอย่างไร ซึ่งนายกสมาคมฯ ตอบชัดเจนว่าปัญหาโลกร้อนมีผลต่อกรณีน้ำท่วมในประเทศไทยไม่เกิน 30 % เท่านั้น นอกจากนั้น 70 % เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่ผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอดแทบทั้งสิ้น เริ่มจากความผิดพลาดในการตั้ง ศปภ. ทั้ง ๆ ที่มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “กปภ.ช.” ตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่นายกฯกลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไปตั้งคณะกรรมการใหม่ขึ้นมาโดยนำบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไม่ตรงกับสายงานเข้ามาบริหารจัดการน้ำ จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนตามมามากมาย เกินกว่าที่จะแก้ไขได้

ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ เดอะ ลิเบอเรียน (THE LIBERIAN) จากฝรั่งเศส ถามถึงความคาดหวังในคดีนี้อย่างไร ซึ่งนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนตอบว่า คดีนี้จะเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ประชาชนทั้งแผ่นดินจะลุกขึ้นมาฟ้องร้องรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากความผิดพลาดล้มเหลวของการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล และคำพิพากษาของศาลจะเป็นมาตรฐานที่จะทำให้นักการเมืองในปัจจุบันและในอนาคตที่เสนอตัวเข้ามารับใช้ประชาชน ได้ตระหนักว่าตนเองจะต้องมีความรู้ความสามารถเท่านั้น จึงควรที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชน และในฝ่ายการเมืองหรือนายกรัฐมนตรีจะต้องเลือกใช้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่ตรงกับสายงานเท่านั้นมาเป็นรัฐมนตรีหรือเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่เลือกใครมาอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามโควต้า ตามการตอบแทนทางการเมือง หรือตามที่เป็นคนของใคร หรือเอาแต่พวกเชลียร์มาทำงาน โดยไม่สนใจเลยว่ามีความรู้ความสามารถเพียงพอหรือไม่ นายศรีสุวรรณกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายศรีสุวรรณ เสริมอีกว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับชาวบ้านตำบลปากแพรก อำเภอบางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์กว่า 300 คนได้มอบอำนาจให้สมาคมฯ เพื่อจะทำการฟ้องร้องผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ  ฐานกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยมีมติให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า นามบริษัท บางสะพานน้อยไปโอแมส จำกัด สามารถก่อสร้างอาคารเพื่อประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้ามลพิษในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลปากแพรก ซึ่งเป็นชุมชนหรือพื้นที่อนุรักษ์ทางการเกษตรของชุมชนได้ โดยมิได้พิจารณาถึงข้อคัดค้าน และรับฟังข้อมูลผลกระทบต่าง ๆ ที่จะตามมาอย่างรอบด้านตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้ง ๆ ที่ชุมชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบด้วย เพราะโครงการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่พิพาท ยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกลับใช้อำนาจทางปกครองในการบีบบังคับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่พิพาทต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือมติของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งถือว่าเป็นพฤติการณ์อันเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชนโดยชัดแจ้ง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายเกิดขึ้นภายในชุมชนต่าง ๆ

ทั้งนี้ ชาวบ้านในตำบลปากแพรกกว่า 150 คนจะได้เดินทางด้วยรถโดยสาร 3 คัน มาร่วมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 นี้ เวลา 10.00 น.

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง