‘ปฏิรูปท้องถิ่นว่าด้วยการทำงานที่โปร่งใส’ เพื่อประเทศไทยเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

12 มี.ค. 55
13:44
11
Logo Thai PBS
‘ปฏิรูปท้องถิ่นว่าด้วยการทำงานที่โปร่งใส’ เพื่อประเทศไทยเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ. 2554 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 80 จากการจัดอันดับทั้งหมด 183 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 10 จาก 26 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย หากเทียบอัตราคะแนนแล้ว กล่าวได้ว่าคะแนนเรื่องความโปร่งใสและเรื่องภาพลักษณ์ในการคอรัปชั่นของประเทศไทยนั้นแทบไม่ถึงครึ่งของคะแนนเต็ม 10 ด้วยสาเหตุดังกล่าว ในเวที ‘ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย’ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่  ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร เรื่องความโปร่งใสในการทำงานของท้องถิ่นนี้ จึงกลายเป็นประเด็นหลักในการพูดคุยของผู้เข้าร่วมประชุม ในเวทีเสวนาหัวข้อ “ท้องถิ่นเข้มแข็งด้วยการทำงานที่โปร่งใส”  ซึ่งมีนักวิชาการและตัวแทนเครือข่ายท้องถิ่นเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน
 
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวในเวทีเสวนาว่า“หัวใจสำคัญของการบริหารให้โปร่งใส เราต้องจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในท้องถิ่น และต้องจัดการอย่างต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมในท้องถิ่นจะต้องไม่เกิดขึ้นในลักษณะการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว หรือคิดหวังในรูปแบบสำเร็จรูป ความโปร่งใสจะต้องมีจุดเริ่มต้น และต้องจัดการให้เป็นวงจรอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อจัดการอย่างต่อเนื่องแล้วจะทำให้เกิดพลังขึ้นในชุมชนอย่างมหาศาล ส่วนเรื่องของการออกแบบวิธีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมนั้น จะต้องมีความหลากหลายและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ในแต่ละแห่งด้วย “การบริหารท้องถิ่นอย่ามองเพียงแค่วิธีการเดียวตามระบบราชการเท่านั้น เพราะจะทำให้เกิดความเสื่อมคลายของการมีส่วนร่วม เพราะการบริหารแบบราชการบ้านเราจะเห็นว่ามีจุดอ่อนมากมาย พลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมาปิดจุดอ่อนตรงนี้ให้ได้  และสิ่งที่เรามองข้ามไปไม่ได้ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพัฒนาการทำงานของตนเองให้สอดคล้องกับประชาชนด้วย เพื่อการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน”
 
ในการนำเสนอในมุมมองของนักวิชาการแล้ว ยังมีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลและเป็นแบบอย่างเรื่องการบริหารงานด้วยความโปร่งใส ความมีธรรมาภิบาลเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นต้นแบบให้ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมเสวนาได้นำไปปรับปรุงใช้ในพื้นที่ของตนเอง เพ็ญภัคร รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีหญิงตำบลเกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในท้องถิ่นของตนเองให้ผู้เข้าร่วมเสวนารับฟังว่า ที่เทศบาลเกาะคานั้น คนในท้องถิ่นมีเป้าหมายใหญ่ร่วมกันคือการเน้นในเรื่องของจิตสำนึกสาธารณะ โดยสร้างความรู้สึกให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของของท้องถิ่นร่วมกัน พร้อมกันนี้ยังเปิดเวทีให้ชาวบ้านได้แสดงออกทางด้านความคิดอย่างอิสระเสรีด้วย

“ที่เกาะคาของเราจะมีการจัดเวทีลานปัญญาเพื่อรวบรวมความคิดดีๆ ของคนในสังคม  ซึ่งชาวบ้านในชุมชนรวมทั้งเยาวชนจะมาร่วมกันสะท้อนปัญหาสาธารณะที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยข้อสรุปที่ได้จากเวทีลานปัญญานี้จะนำไปสู่เวทีประชาคมของเทศบาลเกาะคา อาจจะมีการโหวตกันในท้องถิ่นว่า ประเด็นปัญหาอะไรที่เร่งด่วนต้องแก้ไข และหาทางออกร่วมกันอย่างเร่งด่วนที่สุดของคนในชุมชน เทศบาลก็นำประเด็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขเหล่านี้ ไปสู่การแปรเป็นเทศบัญญัติเพื่อเร่งดำเนินการต่อไป ซึ่งโครงการต่างๆ เมื่อนำมาทำแล้ว ความภาคภูมิใจก็จะเกิดขึ้น เพราะกระบวนการและรูปแบบที่เราใช้ คือการมีส่วนร่วม ซึ่งจะถักทอเป็นพลังของชุมชน ทำให้เกิดแนวทางการทำงานที่ครบทุกด้าน และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันของคนในสังคมและชุมชนของพวกเราอย่างยั่งยืนต่อไป” นายกเทศมนตรีหญิงตำบลเกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปางบอกเล่าพร้อมร้อยยิ้ม

ทั้งนี้ไม่เพียงเฉพาะที่จังหวัดลำปางเท่านั้นที่บริหารจัดการการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองได้อย่างเข้มแข็ง  องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ก็มีการดำเนินการในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปหากแต่สามารถพัฒนาท้องถิ่นของตนเองให้โปร่งใสและเข้มแข็งได้ไม่แพ้กัน
 
นพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บอกเล่าถึงรูปแบบการดำเนินการเพื่อความโปร่งใสในพื้นที่ของตนเองให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฟัง“ผมมองว่าความล้มเหลวในเรื่องความโปร่งใสของหลายท้องที่นั้น เป็นเพราะเรานำระบบราชการในส่วนภูมิภาคมาใช้กับการปกครองและบริหารจัดการพื้นที่ เช่น หลายโครงการที่ถูกผันงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นนั้นไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถูกคอรัปชั่นงบประมาณจากหลากหลายหน่วยงานก่อนลงสู่ท้องถิ่น ซึ่งหลังจากที่ผมได้เข้ามาดำเนินการในส่วนนี้ ผมบอกชาวบ้านเลยว่า เราจะต้องสร้างนิสัยใหม่ๆ”

“ผมบอกเลยว่า เราจะไม่เอาอะไรเลย เราจะช่วยเขาในการพัฒนาท้องถิ่น แต่เราจะไม่นำเสนอโครงการเอง เราจะให้ชาวบ้านคิดว่า เขาอยากได้อะไร อยากทำอะไร และอยากพัฒนาท้องถิ่นของเขาอย่างไร ซึ่งพวกเราจะเข้าไปช่วยในเรื่องของการสนับสนุน พวกเราใช้วิธีในการป้องกันการทุจริตด้วยการยกเลิกการประมูลงาน เมื่อมีการดำเนินการก่อสร้างโครงการใดๆ เกิดขึ้นในท้องถิ่น เราจะเรียกชาวบ้านมาประชุมร่วมกันออกแบบ กำหนดงบประมาณร่วมกัน ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นจากความต้องการของชาวบ้าน ภายใต้งบประมาณที่ชาวบ้านกำหนดเอง  การดำเนินงานและการจัดสรรงบประมาณของเราจึงโปร่งใสและตรวจสอบได้อย่างแท้จริง” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่กล่าว

การทำงานที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องมือหลักที่จะช่วยพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงแล้ว ก็จะเป็นเครื่องมือในการสร้างความรัก ความสามัคคีและสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง ซึ่งการเรียนรู้ต่างๆ นี้จะทำให้เกิดสังคมแห่งการเปิดพื้นที่ทางความคิด เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน  นำไปสู่การอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่หนุนเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง