แรงงานพม่าเรียกร้องต่อ “ซูจี” การพิสูจน์สัญชาติที่สูงเกินไป

2 มิ.ย. 55
14:31
23
Logo Thai PBS
แรงงานพม่าเรียกร้องต่อ “ซูจี” การพิสูจน์สัญชาติที่สูงเกินไป

ข้อเรียกร้องหนึ่งของแรงงานพม่าที่เสนอต่อนางอองซานซูจี ระหว่างการมาเยือนประเทศไทย คือให้ช่วยแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สัญชาติที่สูงเกินไป จึงเป็นอีกปัญหาสำคัญที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิแรงงานต่างด้าว รวมถึงการค้ามนุษย์ด้วย

ไทยพีบีเอสได้ลงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สำรวจปัญหานี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากจะพบปัญหาการดำเนินการที่ล่าช้าแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบยังแนะนำให้ผู้ประกอบการ และแรงงานไปยื่นเรื่องต่อบริษัทนายหน้าเอกชน ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายมากว่าเดิมถึง 10 เท่าตัว นี่จึงเป็นอีกปัญหาสำคัญที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิแรงงานต่างด้าว รวมถึงการค้ามนุษย์ด้วย

ตลอดช่วงเวลาของการเยือนประเทศไทย นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่า ได้รับฟังปัญหาของชาวพม่าที่มาทำงานในไทย ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน และคุณภาพชีวิต รวมถึงการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงเกินไป

การพิสูจน์สัญชาติเป็นขั้นตอนต่อจากการขึ้นทะเบียนประวัติหรือ ทร.38/1 หลังจากพิสูจน์สัญชาติจะมีการออกพาสปอร์ต ตรวจสุขภาพ และออกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงาน เฉพาะการยื่นขอพิสูจน์สัญชาติต้องเสียค่าธรรมเนียม 500 บาท ต่อแรงงาน 1 คน แต่ไทยพีบีเอส ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อเดือนมีนาคมที่่ผ่านมา ว่าหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ อย่างสำนักจัดหางานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด แนะนำให้ผู้ประกอบการไปยื่นเรื่องขอพิสูจน์สัญชาติผ่านบริษัทเอกชน ซึ่งนอกจากจะผิดขั้นตอนตามระเบียบที่ออกโดยกรมการจัดหางานแล้ว แรงงาน 1 คน ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในขั้นตอนนี้ถึง 5000 บาท หรือสูงกว่าเดิมถึง 10 เท่า

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับงานศึกษาของนักวิชาการด้านแรงงานข้ามชาติ ที่พบปัญหาพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ในสำนักจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ลักษณะใกล้เคียงกับที่พบในอำเภอแม่สอด นักวิชาการรายนี้ยังบอกว่าการพิสูจน์สัญชาติที่เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น จะเพิ่มภาระหนี้สินให้กับแรงงานต่างด้าว เพราะต้องหาเงินจำนวนมาก หรือถูกหักจากค่าแรง ทำให้แรงงานต่างด้าวที่ต้องการพิสูจน์สัญชาติ และขอใบอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย กลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการนี้

ขณะที่การพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวยังดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนเดิม การนำเสนอปัญหานี้อีกครั้งของนางอองซานซูจี นักการเมืองจากประเทศต้นทางของแรงงาน ที่มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นี่จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยผู้ออกปากรับข้อเสนอของนางซูจี ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังหรือไม่ จตุรงค์ แสงโชติกุล ไทยพีบีเอส รายงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง