สพฐ.จัดทำหลักสูตรเตือนภัยพิบัติแจกจ่ายโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัย

สังคม
30 มิ.ย. 55
07:34
9
Logo Thai PBS
สพฐ.จัดทำหลักสูตรเตือนภัยพิบัติแจกจ่ายโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัย

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำหลักสูตรสื่อ และกิจกรรมด้านภัยพิบัติแจกจ่ายไปยังโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยใน 4 ภูมิภาคแล้ว ขณะที่ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุต้องติดตามว่ามีพายุ 3 - 4 ลูกเข้าประเทศไทยในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมหรือไม่ เพราะหากไม่มีมาเพิ่มอาจจะทำให้ไทยเสี่ยงต่อภาวะภัยแล้ง และอาจมีน้ำไม่พอใช้สำหรับภาคการเกษตร เนื่องจากกรมชลประทานได้พร่องน้ำไปมากแล้ว

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมเผชิญสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงแนวโน้มการเกิดภัยพิบัติของประเทสไทย โดยระบุว่าองค์กรด้านการพยากรณ์อากาศในหลายประเทศ คาดว่าไทยจะประสบปัญหาภัยแล้ว ตรงข้ามกับนักวิชาการไทย ที่มองว่าสถานการณ์สภาวะฝนจะรุนแรง เนื่องจากจะมีพายุ 3 - 4 ลูก จะเข้าไทย แต่ต้องจับตาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมว่าหากไม่มีพายุเข้ามาเพิ่มเติม รวมถึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ สถานการณ์น้ำจะเป็นปกติ ซึ่งเขื่อนได้พร่องน้ำไว้อย่างเพียงพอ จึงไม่น่าจะทำให้เกิดน้ำท่วม

ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติยังเป็นห่วงในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ปริมาณฝนตกน้อย ประเทศไทยจะเสี่ยงกับสถานการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เนื่องจากกรมชลประทานได้พร่องน้ำในเขื่อนจำนวนมาก อาจทำให้น้ำมีไม่พอใช้สำหรับภาคการเกษตร

นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สถานการณ์ภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นในช่วงหลัง สพฐ. ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากไจก้า ประเทศญี่ปุ่น จัดทำแผนการสอนเกี่ยวกับภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม และสึนามิมาตั้งแต่ปี 2549 ในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคเหนือ และภาคใต้ 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมพร และภูเก็ต โดยจะถอดบทเรียนจัดทำเป็นหลักสูตรสื่อ และกิจกรรมด้านภัยพิบัติตั้งแต่ปี 2551-2554 และขณะนี้ได้จัดทำเป็นหลักสูตรสื่อ และกิจกรรมด้ายภัยพิบัติแจกจ่ายไปตามสถานศึกษาพื้นที่เสี่ยงใน 4 ภูมิภาค และให้ขยายผลไปสู่ชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจในการเผชิญสถานการณ์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง