“หน้าผาการคลัง” สหรัฐฯ ฉุดส่งออกไทย (จริงหรือ?)

2 พ.ย. 55
08:17
395
Logo Thai PBS
“หน้าผาการคลัง” สหรัฐฯ ฉุดส่งออกไทย (จริงหรือ?)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมิน Fiscal Cliff ของสหรัฐฯ อาจดึงส่งออกไทยลงเพียง 0.2% จับตาดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีสร้างความมั่นใจให้ธุรกิจและนักลงทุน

 ประเด็นร้อนซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจและกำลังเข้ามาแย่งซีนวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปคงจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก “หน้าผาการคลัง” หรือ Fiscal Cliff ในเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากจะสรุปให้สั้น หน้าผาการคลัง ก็คือการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังของรัฐบาลกลางออก (หรือการไม่ต่อมาตรการที่กำลังจะหมดอายุ) ที่ส่วนใหญ่ใช้มาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุช คนลูก (Bush tax cuts) ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เม็ดเงินจำนวนมากหายไปจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ณ สิ้นปีนี้

สำนักงบประมาณของรัฐสภาสหรัฐฯ ประเมินว่าหากสภาคองเกรสไม่ทำการแก้กฎหมายรายรับรายจ่าย รัฐบาลกลางจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 4 แสนล้านเหรียญ (จากมาตรการลดภาษีที่จะหมดอายุ) ในขณะที่จะมีค่าใช้จ่ายลดลง 2 แสนล้าน รวมกันแล้วทำให้ดุลการคลังเกินดุลเพิ่มขึ้น 6 แสนล้าน หรือคิดเป็น 4% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ในแง่หนึ่ง

หน้าผานี้จึงมีผลดีต่อสถานะทางการคลังของสหรัฐฯ ทำให้มีความเสี่ยงน้อยลงที่หนี้สินของอเมริกาจะเติบโตไปเป็นวิกฤติการคลังเหมือนในยูโรโซน โดยสำนักงบประมาณฯ คาดการณ์ว่าในปี 2565 หนี้สาธารณะต่อ GDP ของอเมริกาจะเหลือเพียง 61% จาก 73% ในปัจจุบัน

แต่ในทางกลับกัน การที่รัฐจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นและใช้จ่ายลดลงทำให้หน้าผาการคลังส่งผลลบต่อการเติบโตของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก

ในประเด็นดังกล่าว สำนักงบประมาณฯ คาดว่าหากสหรัฐฯ หล่นไปในหน้าผาการคลังจริง เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในทันที โดย GDP ครึ่งแรกปี 56 จะหดตัว 1.3% เป็นการหดตัวครั้งแรกนับจากสิ้นสุดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 52 ก่อนที่จะกลับมาฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีหน้าขยายตัวเพียง 0.5% เท่านั้น เทียบกับระดับ 2.1% ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์หากสหรัฐฯ สามารถเลี่ยงหน้าผาการคลังสำเร็จ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีประเมินว่า ผลของหน้าผาการคลังอาจทำให้การนำเข้าของสหรัฐฯ หดตัว 2% จากการที่ GDP หดตัว 1.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 56

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือเมื่อเราพิจารณาการเคลื่อนไหวของมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ จากประเทศไทยจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของมูลค่าการนำเข้ารวมของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก (ดังแผนภาพ) โดยมีค่าสหสัมพันธ์สูงถึง 93%

เหตุนี้ หน้าผาการคลังจึงน่าจะทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงประมาณ 2% ด้วยเช่นกัน และเนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 10% ของการส่งออกทั้งหมด ผลของหน้าผาการคลังจึงทำให้การส่งออกรวมของไทยลดลงเพียง 0.2% เท่านั้น

แน่นอนว่าภาวะดังกล่าวไม่ได้รุนแรงเหมือนช่วงปี 52 ที่ GDP สหรัฐฯ หดตัวไป 4% ต่อปี ทำให้การนำเข้าจากไทยลดลงไป 25% และหากพิจารณาในปัจจุบันจะเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้นมากจากช่วงวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือตัวเลขการจ้างงาน เป็นเหตุผลสนับสนุนให้นักเศรษฐศาสตร์หลายรายเริ่มมองว่า Fiscal Cliff อาจจะเป็นเพียงผาเตี้ยๆ ที่แค่ถ่วง แต่ไม่ได้ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างที่หลายฝ่ายกังวล
อย่างไรก็ตาม การประเมินดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่าผลกระทบของหน้าผาการคลังไม่ได้ลุกลามไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ของไทย ฉะนั้น แม้ว่าการศึกษาของสำนักงบประมาณสภาคองเกรสจะชี้ว่าหน้าผาการคลังจะไม่ได้มีผลกระทบที่รุนแรงเหมือนวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา แต่ความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ปัจจัยความเชื่อมั่นสำคัญ คือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. ซึ่งผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีทั้งสองระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต และนายมิตต์ รอมนีย์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน มีท่าทีต่อการดำเนินนโยบายการคลังที่แตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากแสดงวิสัยทัศน์ (Presidential debate) เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

โดยนายรอมนีย์ดูเหมือนจะมีมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายที่แข็งกร้าวกว่า เช่น จะประกาศล้มเลิกกฎหมายประกันสุขภาพที่มีชื่อเล่นว่าโอบามาแคร์ และจะยกเลิกการอุดหนุนช่องทีวีสาธารณะ

ขณะที่แผนปฎิรูปภาษีของนายโอบามาจะมุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีคนรวยเพื่อช่วยเพิ่มรายได้จากฐานภาษีให้มากขึ้น อาทิ คิดอัตราภาษีสำหรับกำไรที่ได้จากการลงทุนและเงินปันผลในอัตราที่สูงขึ้นจากอัตราที่จัดเก็บในปัจจุบัน

ดังนั้นหน้าผาการคลัง “ที่จะเกิดขึ้นจริง” ภายใต้พรรคเดโมแครตก็จะมีหน้าตาที่ต่างไปจากกรณีที่ริพับลิกันชนะการเลือกตั้งด้วย

โดยสรุป “หน้าผาการคลัง” หรือ Fiscal Cliff คือ การปรับลดค่าใช้จ่ายพร้อมทั้งขึ้นภาษีของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง และส่งผลกระทบทางตรงมายังรายได้จากการส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ ให้หดตัวราว 2% หรือคิดเป็น 0.2% ต่อการส่งออกรวม อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของหน้าผาการคลังในครั้งนี้ อาจต้องฝากไว้กับผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ซึ่งทั่วโลกต่างเฝ้ารอคอยว่าผู้นำคนใหม่จะสามารถนำพาประเทศฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้สวยงามเพียงใด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง