บริบทการทำงานของ กทม. โดย "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" กับการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตในชุมชน

13 พ.ย. 55
14:04
230
Logo Thai PBS
บริบทการทำงานของ กทม. โดย "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" กับการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตในชุมชน

การบริหารจัดการปัญหากทม.ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในช่วง 3 ปี 6 เดือน มีเสียงสะท้อนจากคนเมืองว่า ไม่เห็นการดำเนินงานนโยบายด้านคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม โดยนักวิชาการวิเคราะห์บริบทการทำงานของกทม. เชื่อว่า เป็นการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาตามกระแสรายวันมากกว่าลงลึก เพื่อแก้ปัญหาดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตอย่างจริงจัง

สะพานคอนกรีต ระยะทาง 1.07 กิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรที่ชาวบ้านชุมชนสามัคคีคลอง 2 ต้นนุ่น เขตมีนบุรี ใช้เข้าออกระหว่างถนนใหญ่และชุมชน มานานเกือบ 20 ปี แต่ปัจจุบันสภาพของสะพานชำรุดเสียหายหลายจุด และด้วยความหวาดหวั่นอาจเกิดเหตุไม่ปลอดภัยขึ้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันและทำหนังสือแจ้งสำนักงานเขตมานับ 10 ฉบับแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งกรณีปัญหาเช่นนี้ ถือเป็นหนึ่งในปัญหาด้านคุณภาพชีวิต ที่ชาวชุมชน ส่งเสียงสะท้อนว่ารู้สึกผิดหวังกับแนวนโยบายของกทม. ที่เคยสัญญาจะดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเมือง

"การแก้ปัญหาไม่ลงมาถึงชัดเจน เป็นรูปธรรม และไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขจริงๆ เขามองว่าเราเป็นชุมชนเล็กๆ บางทีคุยกันแล้วก็ปล่อยผ่านไป" ทรงกลด สวัสดิ์ตติยานนท์ ประธานชุมชนสามัคคีคลองสองต้นนุ่น กล่าว

ประธานสมัชชาสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร มองว่า กทม.ในยุคของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ยังไม่เห็นความสำคัญของชุมชนเท่าที่ควร ทั้งที่แต่ละชุมชนต่างเป็นสังคมพื้นฐานของพื้นที่ ขณะเดียวกันยังเห็นว่า การดำเนินงานยังมุ่งเน้นเชิงกายภาพมากกว่าวิถีชีวิต ทำให้ชุมชน เข้าไม่ถึงนโยบายได้อย่างแท้จริง ส่งผลให้การพัฒนา หรือ แม้แต่จะแก้ปัญหานั้น ไม่ตรงจุดและขาดการมีส่วนร่วม

"ถ้านโยบายที่เป็นการคิดเองจากผู้บริหารระดับกลาง ระดับสูงเพียงไม่กี่คน ผมคิดว่าชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และปัญหาจะเป็นอย่างนั้นตลอด และการบริหารก็คือ คุณพยายามจะสร้างภาพ แต่ผมขอโทษ เพราะมันเป็นทุกสมัย ไม่ใช่เฉพาะสมัยของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ วันนี้ชุมชนเองก็ยังตกเป็นเครื่องมือในเชียงอุปถัมภ์อยู่" ณัชพล เกิดเกษม ประธานสมัชชาสภาองค์กรชุมชนกทม. กล่าว

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ภาพรวมของนโยบายและการดำเนินงานแล้ว เชื่อว่า การแก้ปัญหาระดับชุมชนของกทม.ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน หากแต่หลายกรณีสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานในลักษณะ ไฟไหม้ฟาง หรือ ยึดโยงกระแสที่เกิดขึ้นเท่านั้น

"กทม. ไม่มีทางเข้าไปดูแลชุมชนเองได้ เพราะชุมชนในกทม. มีเยอะมากในแต่ละเขต และข้าราขการในแต่ละพื้นที่เองไม่ได้มีเยอะ เพราะฉะนั้นการลงพื้นที่ก็เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าให้ชุมชนดูแลเอง โดยกทม.เป็นฝ่ายสนับสนุน ลดภาระ กทม. ลง และงานก็จะดีขึ้น" รศ.วันชัย มีชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เสนอว่า กทม. ควรปรับโครงสร้างการบริหาร เพื่อเปิดรับอำนาจของประชาชนทุกภาคส่วน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายที่ว่าด้วยการดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อสนองตามความต้องการได้ตามเป้าหมาย เพราะในช่วง 3 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา กทม.ซึ่งมีนโยบายดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตเป็นนโยบายหลัก ยังถูกสะท้อนความเห็นผ่านโพลล์ว่า ไม่มีผลงานเด่นชัด และให้คะแนนความพึงพอใจเกินครึ่งเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะความพึงพอใจต่อแผนและนโยบายความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ถือว่าต่ำสุด เมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ ทั้งที่เป็นความต้องการสูงสุดของคนกรุงเทพมหานคร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง