พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน

Logo Thai PBS
พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน

การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ละเลยคุณค่าในอดีต คือแนวทางที่เมืองท่องเที่ยวอย่าง แม่ฮ่องสอนใช้รับมือกับความปลี่ยนแปลง สร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ใต้แนวคิดที่เรียกว่า พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน

<"">
<"">

 

ถั่วเน่าซา เมื่อนำไปคั่วในกระทะกับหมูสับจนหอม ก็กลายเป็นเมนูคั่วถั่วเน่า กินกับข้าวและผักสด ภูมิปัญญาอาหารของชาวไทใหญ่ โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่อย่างถั่วเหลือง มาหมักจนได้เครื่องปรุงรสชั้นดีคู่ครัว ยังมี อาละหว่า ส่วยทะมิน อาละหว่าจุง หรือ เปงม้ง ขนมเค้กไทใหญ่ ที่หารับประทานได้ไม่ง่ายนัก และคนรุ่นใหม่อาจลืมรสชาติไปบ้างแล้ว หากอาหารพื้นเมืองที่สืบทอดอยู่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ชวนคนต่างถิ่นมาสัมผัสวัฒนธรรมเมืองแม่ฮ่องสอน

นอกจากเรื่องอาหารพื้นเมืองและก็ขนมไต ในพื้นที่กว่าหกตารางกิโลเมตรของพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน ยังมีเรื่องของสถาปัตยกรรมที่แปลกตา และวิถีชีวิตของผู้คนที่ยังคงสืบทอดรูปแบบดั้งเดิมกันจากรุ่นสู่รุ่น

<"">
<"">

 

เรือนไม้หลังคาจั่วทรงปั้นหยาพร้อมระเบียงตะแกรงเหล็กฉีกศิลปะไต พบเห็นได้สองข้างถนนสีหนาทบำรุงย่านกลางเมือง บางหลังอายุกว่า 120 ปี บอกอัตลักษณ์ชุมชนไทใหญ่ และความเป็นมาของอดีตย่านการค้าสำคัญ

ปัจจุบันยังเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีความเป็นอยู่และสถาปัตยกรรม ผ่านการถ่ายทอดจากเจ้าของ และชมรมอนุรักษ์บ้านเก่า 9 หลังพยายามรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ภาษาไต ที่คนรุ่นใหม่แทบไม่ได้ใช้ และขาดการสืบทอด ถูกนำมาสะท้อนลงในบทเพลง "อ่ำลืมกว๊ามไต" เตือนใจให้ผู้ฟังไม่ลืมภาษาถิ่น เกิดจากแนวคิดของ สุขชัย เฉลิมผลวงศ์กุล และเพื่อนครู แต่งเพลงเป็นสื่อเรียนรู้ทักษะภาษาไทใหญ่สำหรับเยาวชน

อัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นทุกด้าน ต่อยอดความรู้จากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หวังให้เป็นเครื่องมือพัฒนาเมืองในรูปแบบ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

<"">
<"">

 

 "อย่างน้อยเด็กเขาได้ฟังแล้วเขาจะคิดตาม ว่าคำนี้เขาเคยใช้พูดอยู่ เค้าเคยได้ยินมาอยู่แล้วเราเสริมลงไปปุ๊ป เด็กๆในโรงเรียนพอได้ฟังปุ๊บเค้าก็แปลกหู เนื่องจากเขาฟังแต่เพลงวัยรุ่นต่างๆ พอเราเอาภาษาตรงนี้เข้าไปจับทำนองของเพลงวัยรุ่น แล้วเราเปลี่ยนเนื้อความเป็นท้องถิ่นก็ติดหูเด็กไปอีกก็เลยลามไปเรื่อยๆ" สุขชัย เฉลิมผลวงศ์กุล ครูและนักดนตรีวงเดอะทีชเชอร์

"เราพยายามไม่ลงไปกำหนดว่าควรเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เราเอาข้อมูลเป็นตัวตั้งแล้วค่อยสื่อสารออกไป คนที่ยี่หระกับเมืองจะออกมาช่วยกระบวนการนั้น สิ่งที่ท้าท้ายคือ เขาสนใจเมืองของเขาจริงๆหรือเปล่า ถ้าสนใจๆจริงๆเขาเป็นข้อมูล กระบวนการพัฒนาก็จะเกิด" ผศ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม หัวหน้าโครงการวิจัยฯพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน

การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวอย่างไม่เข้าใจพื้นฐานทางวัฒนธรรม รวมถึงปล่อยให้คนนอกมากำหนดทิศทางและแสวงหาประโยชน์จนทำลายวิถีชีวิตและชุมชนดั้งเดิมซึ่งเคยเป็นเสน่ห์ คือปัญหาที่หลายเมืองท่องเที่ยวกำลังประสบ หากการฟื้นฟูคุณค่าของท้องถิ่น ต่อยอดความรู้จากงานวิจัย โดยชาวบ้าน และหน่วยราชการในท้องถิ่น ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย คือหนึ่งในเครื่องมือที่ชาวแม่ฮ่องสอนใช้สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและอนุรักษ์

เสน่ห์เมืองสามหมอก ในแบบที่เคยเป็นมา จึงไม่ได้มีเพียงปราการธรรมชาติที่พิสูจน์การเดินทางมาของผู้มาเยือน หากแต่ยังมีชุมชนที่รู้ค่าในทุนทางวัฒนธรรมคอยกำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง