ทำไม?? ต้องไป.... "ศาลโลก"

15 เม.ย. 56
07:51
2,415
Logo Thai PBS
ทำไม?? ต้องไป.... "ศาลโลก"

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice; ICJ) หรือภาษาพูดที่ติดปากเรียกว่า ศาลโลก หรือ World Court เป็นศาลซึ่งตั้งขึ้นโดยกฎบัตรสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2489 ให้ทำหน้าที่สืบเนื่องต่อจากศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Permanent Court of Justice; IPCJ)

 ก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2463 และยุติบทบาทไปพร้อมกับสันนิบาตชาติ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอยู่ในความควบคุมของสหประชาชาติ  และมีบัลลังก์ที่วังสันติ (Peace Palace) กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่จะออกนั่งพิจารณาที่อื่นก็ได้

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีใด ๆ ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ 2 ประเทศขึ้นไป (contentious case) เช่น ข้อพิพาทเรื่องดินแดนอาณาเขต การละเมิดอำนาจอธิปไตย ปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ  หรือแม้แต่กรณีที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่รัฐเป็นผู้ฟ้องแทน ฯลฯ 
 
ทั้งนี้ ประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องยินยอมรับอำนาจศาลให้เป็นผู้พิจารณาตัดสินก่อนเท่านั้น ศาลจึงจะมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีนั้นได้
 
นอกจากนี้ วิกิพีเดีย มีข้อมูลว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังมีอำนาจวินิจฉัยเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในทางกฎหมายระหว่างประเทศ (advisory opinion) ในกรณีสามกรณีหลัก คือ 
 
กรณีแรก ตามที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติร้องขอ 
กรณีที่สอง ตามที่องค์กรอื่นภายใต้สหประชาชาติหรือองค์การชำนัญพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติร้องขอโดยได้รับการอนุมัติจากสมัชชาใหญ่ และ 
กรณีที่สาม ตามที่ได้มีการให้อำนาจวินิจฉัยปัญหาไว้โดยสนธิสัญญา 
 
โดยผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมี 15 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 9 ปี คนละวาระเดียว การพิจารณาพิพากษาคดี  ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 9 คนนั่งบัลลังก์ จึงจะเป็นองค์คณะ  โดยศาลจะเลือกประธานและรองประธานศาลเอง
 
ในส่วน คดีปราสาทเขาพระวิหาร เป็นความขัดแย้งระหว่างราช อาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร  ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร เกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท 
 
โดยทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2502 คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของ กัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9  ต่อ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลก ตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม เนื่องจากศาลโลกยึดติดอยู่บนแผนที่ฉบับเดียว โดยที่ศาลโลกมิได้มีการตรวจสอบสถานที่อย่างจริงจังตามข้อตกลงไทย-ฝรั่งเศส
 
อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ในบริเวณดังกล่าวให้หมดไป และยัง คงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาจนถึงปัจจุบัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง