คาดกขช. ยังไม่ปรับราคา "จำนำข้าว" หวั่นก่อหนี้ระยะยาว-อาจเสนอแนวทางเยียวยาอื่น

เศรษฐกิจ
1 ก.ค. 56
04:33
77
Logo Thai PBS
คาดกขช. ยังไม่ปรับราคา "จำนำข้าว" หวั่นก่อหนี้ระยะยาว-อาจเสนอแนวทางเยียวยาอื่น

มีการคาดการว่า การประชุม กขช.ในวันนี้ (1ก.ค.56) จะไม่พิจารณาปรับจำนำข้าวที่ 15,000 บาท ตามที่เกษตรกรเรียกร้อง เนื่องจากจะเป็นการก่อหนี้ในระยะยาว ส่วนเกณฑ์การรับจำนำข้าวรอบใหม่ คาดว่า จะมีการเสนอแนวทางอื่นในการช่วยเหลือ แทนการรับจำนำในราคาเดิม

มีรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช.ในวันนี้ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะมีการพิจารณาถึงข้อเสนอจากตัวแทนชาวนา ที่ขอให้รัฐทบทวนราคาจำนำข้าวเปลือกจากราคาตันละ 12,000 บาท เป็นตันละ 15,000 บาท เบื้องต้นมีแนวโน้ม คาดว่า กขช. จะไม่มีการปรับราคากลับไปเป็น 15,000 บาท ตามที่เกษตรกรเรียกร้อง เนื่องจากเกรงว่า จะกลายเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาล และกระทบต่อวินัยทางการเงินการคลัง

 
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า หากรัฐบาลกลับไปรับจำนำราคาเดิม อาจเกิดปัญหาการทุจริต คือ มีการลักลอบนำข้าวทะลักเข้าโครงการเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการทิ้งทวนราคาข้าวเปลือก 15,000 บาท ทั้งที่ขณะนี้ คาดการว่า ในฤดูนาปรังจะเหลือผลผลิตข้าวเปลือกไม่เกิน 2 ล้านตันเท่านั้น
 
นอกเหนือจากนั้น มีการประเมินว่า หาก กขช.ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของชาวนา แนวทางการช่วยเหลือที่อาจเป็นไปได้ก็อาจมีหลายช่องทาง เช่น การปรับขึ้นราคารับจำนำจากตันละ 12,000 บาท เล็กน้อย แต่ไม่ถึง 15,000 บาท รวมถึงการเลือกลดปริมาณวงเงินการรับจำนำต่อครัวเรือนลงจาก 500,000 บาท เพื่อให้สามารถรับจำนำได้ในราคาสูงกว่า 12,000 บาทต่อตัน

    

 
ด้านน.ส.บูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการ กขช.กล่าวว่า ในการประชุม กขช. จะมีการนำเสนอแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์ และราคาการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาล 56/57 ด้วย โดยจะมี 4 แนวทางที่ใช้ประกอบการพิจารณา คือ ให้สอดคล้องกับนโยบายวินัยทางการเงินการคลังของรัฐบาลที่กำหนดให้ขาดทุนได้ไม่เกินปีละ 70,000-80,000 ล้านบาท สอดคล้องกับราคาข้าวในตลาดโลก ซึ่งจะอิงราคาส่งออกข้าวของไทยบวกกำไรเล็กน้อย ต่อมา คือต้องสะท้อนกับต้นทุนการผลิต ที่คำนวนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสุดท้ายจะดูถึงส่วนต่างผลกำไรที่ชาวนาได้รับ เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น อ้อย ปาล์ม ยางพารา
 
ทั้งนี้ แนวทางการจำกัดปริมาณข้าวที่เข้าโครงการ จะทำให้ลดปัญหาการเร่งเพาะปลูกข้าวคุณภาพต่ำของชาวนา เพื่อหวังนำเข้าสู่โครงการในปริมาณมาก เพราะจากการรับจำนำโครงการที่ผ่านมา พบว่า การขาดทุนของรัฐบาลส่วนใหญ่ มาจากการรับจำนำข้าวขาวคุณภาพต่ำ เพราะขายไม่ได้ราคา แต่สำหรับข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมจังหวัด ข้าวหอมปทุม ถือว่าตลาดยังยอมรับได้
 
ด้านนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า หากการประชุม กขช. ในวันนี้ (1ก.ค.)ไม่คงราคารับจำนำตันละ 15,000 บาท ตามข้อเรียกร้อง กลุ่มชาวนาจะออกมารวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืน แต่ยอมรับได้หากหลังจากเดือนกันยายน จะปรับราคาจำนำเหลือ 12,000 บาทต่อตัน โดยได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องการปลูกข้าวไปแล้ว เช่น ขอให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เหลือร้อยละ 0 ให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวนาซื้อปัจจัยการผลิตทั้งปุ๋ย ยา และน้ำมัน ราคาถูกผ่านบัตรเครดิตชาวนา
 
หากรัฐจะปรับราคารับจำนำข้าวในระยะต่อไป ให้พิจารณาราคารับจำนำข้าวที่ต้นทุนของเกษตรกร บวกกำไร ร้อยละ 40 โดยให้คิดต้นทุนจากข้อมูลของชาวนา คือ ไร่ละประมาณ 6,000 บาททั้งนาปีและนาปรัง หรือตันละประมาณ 9,000 บาท ถึง 10,000 บาท
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง