สัมผัสไมตรี-เปลี่ยนความคิด ในนิทรรศการ "ตาดู ทมิฬนาฑู"

Logo Thai PBS
สัมผัสไมตรี-เปลี่ยนความคิด ในนิทรรศการ "ตาดู ทมิฬนาฑู"

ความหมายที่ต่างไปจาก คำว่า "ทมิฬ" ที่แปลเป็นไทยว่า ดุร้าย แต่วันนี้ จะพาไปรู้จักคนท้องถิ่นในรัฐทมิฬนาฑู ตอนใต้สุดของอินเดีย ที่ซึ่งเต็มไปด้วยศิลปะวัฒนธรรม และที่สำคัญคือมิตรไมตรีที่มอบให้กับผู้มาเยือน ถ่ายทอดผ่านผลงานของช่างภาพ 5 คนในนิทรรศการภาพถ่าย ตาดู ทมิฬนาฑู

รอยยิ้มแรกทักทายแม้ไม่รู้จัก ต้อนรับสู่ตลาดพอนดิเชอรี รัฐทมิฬนาฑู ถ่ายทอดความสดใสของเด็กๆ ผ่านเลนส์ Fisheyes หรือ เลนส์ตาปลา ให้ใบหน้าเปื้อนยิ้มดูแปลกตา และสนุกสนานมากขึ้น ผลงานของ ผศ.กิตติชัย เกษมศานติ์ 1 ใน 5 ช่างภาพชาวไทย ที่มาเยือนดินแดนอินเดียใต้แห่งนี้เป็นครั้งแรก 

 
แม้มีอุปสรรคทางภาษา หากไมตรีที่เกื้อกูลตลอดเส้นทาง ได้เปลี่ยนความคิดเดิมที่เคยกลัว เพราะคำว่า "ทมิฬ" ในภาษาไทยแปลว่า "ดุร้าย" ภาพของรัฐทมิฬนาฑู ที่ใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษากลาง จึงถูกตีความไว้ไม่ต่างกัน ความหมายที่แท้จริงของรัฐทมิฬนาฑู ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านผลงานฝีมือ 5 ช่างภาพ ในนิทรรศการภาพถ่าย "ตาดู ทมิฬนาฑู" หวังเป็นสื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้วัฒนธรรมและทำความรู้จักกับ "ทมิฬนาฑู" ให้มากขึ้น 

    

 
การดึงดูดสายตาด้วย 7 สีสดใสที่แต่งแต้มลงบนเครื่องเล่น ให้ม้าหมุนขนาดเล็กโดดเด่นกลางชายหาดขนาดยาวแห่งเมืองเจนไน เป็นอีกเสน่ห์แห่งสีสันของรัฐทมิฬนาฑู ที่แวดล้อมไปด้วยสีสันและความสวยงามของอาคารบ้านเรือนสถาปัตยกรรม ไปจนถึงพาหนะ และเครื่องแต่งกาย ศิลปะแห่งการใช้สีที่อยู่ในชีวิตประจำวันของชาวทมิฬนาฑู ทำให้สีที่อาจดูไม่เข้ากัน กลับผสมผสานกันได้อย่างลงตัว กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับช่างภาพ แหวกกรอบการใช้สีแบบเดิมๆเติมเต็มจินตนาการใหม่ๆ ให้กับศิลปิน 
 
รัฐทมิฬนาฑู อยู่ทางตอนใต้สุดของอินเดีย ในแนวละติจูดเดียวกับกรุงเทพ สภาพภูมิอากาศจึงไม่ต่างจากบ้านเรามากนัก ไม่เพียงเป็นเสน่ห์แห่งอินเดียใต้ หากยังมีอารยธรรมตะวันตกหลงเหลือให้เห็นผ่านสถาปัตยกรรม ครั้งตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ศรัทธาในศาสนาฮินดูยังฝังรากอยู่บนดินแดนแห่งนี้ ยังมีวัฒนธรรมหลากหลายที่หลอมรวม เป็นเสน่ห์ดึงดูดช่างภาพจากทั่วโลก นิทรรศการ ตาดู ทมิฬนาฑู จัดไปจนถึงวันที่ 4 สิงหาคมนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง