ชาวสวนยางภาคใต้ เตรียมชุมนุมที่สหกรณ์สุราษฎร์ธานี คาดใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน

ภูมิภาค
2 ก.ย. 56
14:10
58
Logo Thai PBS
ชาวสวนยางภาคใต้ เตรียมชุมนุมที่สหกรณ์สุราษฎร์ธานี คาดใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน

ชาวสวนยางพาราภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกาศไม่ร่วมชุมนุม เพราะพอใจมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ซึ่งนักวิชาการบางคน เห็นว่าเป็นการโดดเดี่ยวชาวสวนยางภาคใต้ แต่กังวลว่าสถานการณ์อาจจะบานปลาย ขณะที่ในภาคใต้จะมีการชุมนุม รวม 5 จุด หนึ่งในจุดที่ชุมนุม คือ ศูนย์ราชการจังหวัดชุมพร ซึ่งวันนี้ (2 ก.ย.2556) ส.ส.จังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ นำตัวแทนชาวสวนยางพาราเข้าไปในศูนย์ราชการจังหวัดชุมพร โดยอ้างว่า ต้องการใช้พื้นที่ในการชุมนุม

ผู้ชุมนุมชาวสวนยาง ชาวสวนปาล์ม ในจ.ชุมพร และนายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ บุกเข้าไปในศูนย์ราชการจ.ชุมพร เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา จนข้าราชการกว่า 40 หน่วยงาน ต้องออกจากศูนย์ และปิดทำการทันที

โดยนายชุมพล อ้างว่า การใช้เครื่องขยายเสียงอาจสร้างความรำคาญให้กับข้าราชการ และต้องการใช้พื้นที่ศูนย์ราชการ ระหว่างชุมนุม ก่อนปิดทางเข้าออกศูนย์ราชการทั้งหมด โดยอ้างว่าไม่ต้องการปิดถนน สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน

พรุ่งนี้ (3 ก.ย.2556) ชาวสวนยางจากหลายจังหวัดภาคใต้ เตรียมไปชุมนุมที่สหกรณ์สุราษฎร์ธานี คาดว่าจะชุมนุมไม่น้อยกว่า 3 วัน  โดยยืนยันข้อเรียกร้องประกันราคาน้ำยางสด กิโลกรัมละ 81 บาท, ยางก้อนถ้วย 83 บาท, ยางแผ่นดิบคุณภาพชั้น 3 กิโลกรัมละ 92 บาท และไม่เห็นด้วยกับการช่วยเหลือของรัฐบาล ที่รับซื้อยาง กิโลกรัมละ 80 บาท และสนับสนุนปัจจัยการผลิตไร่ ละ 1,260 บาท ไม่เกินรายละ 25 ไร่

ก่อนหน้านี้ ชาวสวนยางทั่วประเทศ มีจุดยืนร่วมกันชุมนุมลักษณะดาวกระจาย แต่หลังรัฐบาลอุดหนุนปัจจัยการผลิต ทำให้ชาวสวนยางภาคอีสาน และภาคเหนือ ที่จะชุมนุมที่จ.นครราชสีมา และจ.อุตรดิตถ์ ยกเลิกการชุมนุม โดยนักวิชาการบางคน มองว่า เป็นการโดดเดี่ยวชาวสวนยางภาคใต้ แต่ไม่ทำให้การเคลื่อนไหว มีน้ำหนักน้อยลง และกังวลว่า สถานการณ์จะบานปลาย

ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ กระทบต่อชาวสวนยาง แต่ละภาค แตกต่างกัน ตามสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่ ส่วนหนึ่งคือ ต้นทุนการผลิตยางพารา ไม่เท่ากัน  โดยภาคเหนือมีต้นทุนต่ำกว่าภาคใต้ และยางพารา ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลัก แม้จะมีพื้นที่ปลูก รวมกว่า 800,000 ไร่ แต่ส่วนใหญ่ปลูกพืชชนิดอื่นผสม แตกต่างจากภาคใต้ ที่ปลูกยางเพียงอย่างเดียว

ขณะที่ภาคอีสาน ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และทำในครัวเรือน รายละไม่เกิน 15 ไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นยางก้อนถ้วย ทำให้ต้นทุนการผลิต ถูกกว่าภาคใต้

การชุมนุมของชาวสวนยาง จะชุมนุม 5 จุดใหญ่ ในภาคใต้ คือ ที่แยกควนหนองหงส์, แยกบ้านตูล อ.ชะอวด, ถนนเอเชียสาย 41 บริเวณแยกบ้านหนองดี อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช, บริเวณทางเข้าออกศูนย์ราชการจ.ชุมพร และที่สหกรณ์สุราษฎร์ธานี หรือโคออป ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ จุดศูนย์รวมของผู้ชุมนุมที่เดินทางมาจากทั่วภาคใต้ โดยตำรวจได้เตรียมความพร้อม ดูแลผู้ชุมนุมทุกจุด รวมทั้งในภาคอีสาน และภาคเหนือ แม้จะประกาศไม่ชุมนุมก็ตาม

ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่าเป็นห่วงผู้ชุมนุม แต่ยังไม่ประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง โดยให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดูแลความเรียบร้อย พร้อมขอร้องผู้ชุมนุมอย่าปิดถนน เพราะส่งผลการจราจร และกระทบภาคเศรษฐกิจ ซึ่งการเดินทางไปจีนครั้งนี้ จะเพิ่มความร่วมมือเรื่องการซื้อสินค้าเกษตร รวมถึงยางพาราด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง