ไม้เรียวสร้างคนกับเด็กยุคใหม่

9 ก.พ. 53
11:19
223
Logo Thai PBS
ไม้เรียวสร้างคนกับเด็กยุคใหม่

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว 2543 ครู หรืออาจารย์ ไม่มีอำนาจเหมือนบิดา มารดา แต่การที่บิดา มารดาส่งบุตรไปศึกษา เล่าเรียนในโรงเรียน ถือว่าบิดา มารดาได้มอบสิทธิในการทำโทษบุตรให้ครูบาอาจารย์ในโรงเรียน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว 2543 กำหนดไว้ชัดเจนว่าครู หรืออาจารย์ ไม่มีอำนาจเหมือนบิดา มารดา แต่การที่บิดา มารดาส่งบุตรไปศึกษา เล่าเรียนในโรงเรียน ถือว่าบิดา มารดาได้มอบสิทธิในการทำโทษบุตรให้ครูบาอาจารย์ในโรงเรียนทำโทษตามปกติที่ใช้อยู่ในโรงเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่า ครู อาจารย์ จะมีสิทธิในการลงโทษได้เช่นเดียวกับพ่อแม่ทุกอย่าง เพราะมีกฎกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากมีการเฆี่ยนตี ทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ ครูอาจารย์อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

ส่วนบทลงโทษที่กระทรวงศึกษาธิการ เคยกำหนดวิธีการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติหรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ ของสถานศึกษา ให้ลงโทษตั้งแต่ ว่ากล่าวตักเตือน เฆี่ยนจนถึงไล่ออก เมื่อปี 2522 ถูกปรับเปลี่ยน ให้ยกเลิกการเฆี่ยน เปลี่ยนมาเป็นให้ทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแทน ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2543 โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 หลังมีประกาศครูบาอาจารย์ ไม่สามารถลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา โดยการตีหรือเฆี่ยนได้ สุภาษิต “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” จึงใช้ได้กับเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองเท่านั้น
ด้านนายพงศพิชญ์ แก้วกุลธร นิสิตชั้นปีที่ 5 ในฐานะครูฝึกสอน เปิดเผยว่า วิธีที่จะควบคุมเด็กๆจำนวนมากใน 1 ชั้นเรียน ให้ตั้งใจฟังเนื้อหาการเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยข้อตกลงที่มีร่วมกันตั้งแต่เริ่มสอน ขณะที่น.ส.สุวิมล แสวงการณ์ ครูฝึกสอน กล่าวว่าบุคลิกของครู จะเป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆ ได้ และจะเป็นส่วนช่วยเติมเต็มให้เด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์มากขึ้น
แม้ปัจจุบันจะมีการยกเลิกการลงโทษที่รุนแรง และครูผู้สอนจำนวนมากได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนให้สอดคล้องกับสภาพสังคม แต่ยังพบว่า มีคนบางกลุ่มใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจในการลงโทษเด็กอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเครือข่ายสังคม ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องเฝ้าจับตาพฤติกรรมเหล่านี้เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเยาวชนของชาติในอนาคต


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง