ผลกระทบจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีน

ต่างประเทศ
5 มี.ค. 53
01:09
4,612
Logo Thai PBS
ผลกระทบจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีน

ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่น่าหวาดหวั่นอย่างยิ่งของคนลุ่มน้ำโขง 5 ชาติ ทั้งพม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนามเพราะเพียงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ระดับน้ำในแม่น้ำโขง จากการตรวจวัดระดับน้ำที่ จ.หนองคาย มีระดับต่ำสุดที่ 33 เซนติเมตร ซึ่งต่างจากปกติที่น้ำในแม่น้ำโขง จะเริ่มแห้งในเดือนเม.ย.
ซึ่งภาคีหลายภาคส่วนทั้งเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงผู้เฒ่าผู้แก่รวมถึงสื่อในประเทศจีนเอง ก็มองว่า การเหือดแห้งของแม่น้ำโขง เกิดจากการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำในจีน

หนังสือพิมพ์ ไชน่าเดลี่ ตีพิมพ์ข่าวสาร ที่ระบุว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2552 เป็นต้นมาได้มีความพยายามกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนเพราะได้เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างหนักและร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี

เจ้าหน้าที่ของบริษัท หัวเหนิงลานซางไฮโดรพาวเวอร์ จำกัดเอกชนที่เข้าไปก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงทั้ง 4 แห่ง ระบุว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในเขื่อนจนกระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าในมณฑลหยุนหนัน

เช่นเดียวกับ หนังสือพิมพ์ หนานฟ่างเดลี่ ของจีน ที่รายงานในทำนองเดียวกันว่า ได้เกิดความแห้งแล้งในหยุนหนันอย่างหนักทำให้เขื่อนเสี่ยววาน ต้องการน้ำอย่างมากเพราะเป็นเขื่อนสำคัญสำหรับหล่อเลี้ยงเขื่อนอื่นๆ
โดยแผนการสร้างเขื่อนบน แม่น้ำลานซาง หรือ แม่น้ำโขง ในประเทศจีนที่เป็นรูปธรรมแล้วในขณะนี้มีอยู่ 8 เขื่อน สร้างเสร็จแล้ว 4 เขื่อน คือ เขื่อนมานวานเริ่มปั่นกระแสไฟฟ้าได้เมื่อปี 2539 ,เขื่อนต้าเฉาซานสร้างเสร็จเมื่อปี 2549,เขื่อนจิงฮง และ เขื่อนนัวจาตู้ที่เริ่มกักเก็บน้ำเมื่อปลายปี2552
ส่วนเขื่อนเสี่ยววานซึ่งมีความสูงถึง 300 เมตร เท่ากับตึกระฟ้า 100 ชั้น มีกำหนดสร้างเสร็จ ปี 2555 นี้

โดยจีนประเมินว่าเขื่อนทั้ง 8 ที่เรียงรายอยู่บนแม่น้ำโขงตอนบน (อีก 3 เขื่อน คือ เขื่อนกงกว่อเฉียว,เขื่อนกันลันปาและเขื่อนเมงซอง จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 15,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะป้อนให้กับเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ทางชายฝั่งตะวันออกของจีน และบางส่วนมีแผนจะขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทยด้วยโดยจีนมีแผนที่จะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงถึง 14 เขื่อน
นอกจากนี้ยังไม่รวมถึง โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ของประเทศลาว 6 แห่งกัมพูชา 2 แห่ง และบริเวณพรมแดนไทย-ลาว อีก 3 แห่ง
คริสโตเฟอร์ บาร์โลว์ ผู้อำนวยการโครงการประมง สำนักเลขาธิการเอ็มอาร์ซี กล่าวว่า แม่น้ำโขงคือแหล่งประมงน้ำจืดที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ปีละกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ที่สำคัญ
การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เพื่อสนองตอบความต้องการพลังงานไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลา ข้อมูลของเอ็มอาร์ซียืนยันว่ากว่า ร้อยละ 70 ของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง ล้วนแต่ย้ายถิ่นเพื่อวางไข่ในตอนเหนือของแม่น้ำ จากนั้นลูกปลาก็จะว่ายตามน้ำจากด้านเหนือลงมาด้านปลายน้ำการสร้างเขื่อนจำนวนมากในจีน จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดน้อยลง ส่งผลกระทบกับการเดินทาง และการวางไข่ของปลา

ขณะเดียวกัน ตะกอนแม่น้ำ ซึ่งทำให้พื้นที่เกษตรอุดมสมบูรณ์ และเป็นประโยชน์กับปลา ก็จะถูกทับถมอยู่ในเขื่อนต่างๆ ไม่ให้ไหลลงไปยังประเทศทางตอนล่างตามธรรมชาติ

ด้านประชาชนในเขตอ.เชียงของ จ.เชียงราย ยังตั้งข้อสังเกตว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดต่ำลง น้ำขุ่น และการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลงไป มีผลกระทบโดยตรงต่อสาหร่ายน้ำจืด หรือ ไก เพราะ ไก ต้องการน้ำสะอาด และไหลอย่างสม่ำเสมอเมื่อไม่มีน้ำ ไก ก็จะแห้งตายไปอย่างน่าเสียดายและอาจหายไปจากแม่น้ำโขงในไม่ช้านี้
นอกจากนี้ การระเบิดเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือ ทำให้กระแสน้ำไหลเร็วผิดปกติ เกิดการกัดเซาะริมตลิ่ง ทำให้ตลิ่งพังเร็วขึ้น


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง