ครม.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ อังคารนี้-ท่ามกลางข้อสังเกตไร้แนวทางรองรับหากลงมติไม่ผ่าน

การเมือง
13 มี.ค. 59
13:27
159
Logo Thai PBS
ครม.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ อังคารนี้-ท่ามกลางข้อสังเกตไร้แนวทางรองรับหากลงมติไม่ผ่าน
ครม.เตรียมจะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันอังคารที่ 15 มี.ค.นี้ เพื่อให้หลักเกณฑ์และวิธิการทำประชามติสอดคล้องกัน แต่มีข้อสังเกตว่า เหตุใด คสช. ครม. และ สนช.ไม่วางแนวทางรองรับ กรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านประชามติ

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 16/2559 ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นการทำประชามติ ยึดเสียงข้างมากระหว่างผู้ออกเสียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเอกฉันท์ 192 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง นับจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 15 วัน เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

สำหรับประเด็นการแก้ไข คือการยึดคะแนนเสียงข้างมากของผู้ใช้สิทธิออกเสียงเป็นเกณฑ์ผ่านประชามติ อายุของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติอยู่ที่ 18 ปี การแจกจ่ายและเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนโดยวิธีการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ให้ สนช.สามารถกำหนดประเด็นคำถามให้ประชาชนตัดสินใจพร้อมกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และให้ ครม.เสนอกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ ให้ สนช. พิจารณา

สำหรับร่าง พ.ร.บ.การทำประชามติ คาดว่า จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.วันที่ 15 มี.ค.นี้ ก่อนที่จะเสนอให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบในสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้การอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเสียงจากสมาชิก สนช.สนับสนุนให้วางมาตรการควบคุมความสงบเรียบร้อยระหว่างการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

 

ดังนั้นไม่เพียงหลักเกณฑ์และวิธีการทำประชามติที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 2 จะสอดคล้องกันเท่านั้น แต่ร่าง พ.ร.บ.การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ยังต้องวางมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมไปด้วย โดยเฉพาะการกระทำผิดที่จะมีโทษทางอาญา อาจกำหนดโทษผู้ขัดขวางประชามติ ด้วยการจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หากพบว่ามีการใช้กำลังจะเพิ่มโทษ 2 เท่า หรือกรณีสัญญาว่าจะให้หรือใช้อิทธิพลคุกคามต้องโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท หากมีการปลุกระดมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ถือเป็นการก่อความวุ่นวาย ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายประชามติซ่อมและรับโทษตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ไปด้วย

ด้วยบริบททั้งหมดถือว่าพร้อมในทุกระดับที่จะรับมือกับสถานการณ์ แต่ก็เป็นที่สังเกตว่า คสช.ครม.หรือ สนช.ไม่ได้วางมาตรการรองรับกรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านประชามติ แต่ก็เป็นที่เชื่อได้ว่า ท้ายที่สุดอาจขึ้นอยู่กับคำถามพ่วงการออกเสียงประชามติ ที่รัฐธรรมนูญเปิดทางให้ สนช.เสนอคำถามนี้ ต่อ กกต. ซึ่งอาจเป็นคำถามเพื่อขอคำตอบจากผู้ออกเสียงประชามติ ว่าจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาบังคับใช้แทน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง