บ.อัครา รีซอร์สเซส กังวลแผนฟื้นฟูเหมืองทองภายใน 7 เดือน-จ.พิจิตร ยันมีตำแหน่งงานรองรับผู้ถูกเลิกจ้าง

สิ่งแวดล้อม
12 พ.ค. 59
21:04
416
Logo Thai PBS
บ.อัครา รีซอร์สเซส กังวลแผนฟื้นฟูเหมืองทองภายใน 7 เดือน-จ.พิจิตร ยันมีตำแหน่งงานรองรับผู้ถูกเลิกจ้าง
สำนักงานจัดหางานจังหวัดพิจิตร เผยมีตำแหน่งงานว่างรองรับพนักงานเหมืองทองชาตรี 1,000 คน หากถูกเลิกจ้าง หลังประสานกับผู้ประกอบการในพื้นที่ ด้าน บ.อัครา รีซอร์สเซส กังวลแผนฟื้นฟูเหมืองภายใน 7 เดือน อาจไม่ผ่าน EIA-EHIA ชี้ปิดเหมืองรัฐขาดรายได้ปีละ 500 ล้านบาท

จากกรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีคำสั่งให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมือนแร่ทองคำชาตรี จ.พิจิตร ยุติกิจการภายในสิ้นปี 2559 และไม่ต่อใบประทานบัตรโลหกรรมที่จะหมดอายุวันพรุ่งนี้ (13 พ.ค.) ส่งผลให้พนักงานของเหมืองทองชาตรีถูกเลิกจ้างประมาณ 1,000 คน

วันนี้ (12 พ.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยังคงดำเนินกิจการ ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เพื่อนำแร่ที่เหลือไปใช้ประโยชน์ แต่พบว่ามีรถบรรทุกแร่หินและกากแร่เข้าโรงประกอบการเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ นอกจากนี้ ผู้บริหารบริษัท อัครา รีซอร์สเซสฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลืนคนงานที่จะถูกเลิกจ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดพิจิตรเตรียมประสานผู้ประกอบการเพื่อหาตำแหน่งงานรองรับ โดยมีตำแหน่งว่างงานจำนวน 602 อัตรา รวมถึงอาชีพอิสระ ที่สามารถรองรับพนักงานเหมืองทองชาตรีที่อาจถูกเลิกจ้างประมาณ 1,000 คน โดยหากพนักงานเมืองทองชาตรีคนใดถูกเลิกจ้าง ให้มาลงทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชยการว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน 15,000 บาท หรือเดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน

ด้าน ผู้บริหาร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้จัดแถลงขอความเป็นธรรม หลังจากถูก ครม. สั่งปิดเหมืองภายในสิ้นปี 2559 โดยระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 3,500 คน รอบเหมืองทองชาตรี ยินดีที่มีเหมืองทองอยู่ในพื้นที่เพราะช่วยสร้างอาชีพและรายได้ ส่วนจำนวนผู้คัดค้านมีเพียง 40-50 คน เท่านั้น นอกจากนี้ หากรัฐบาลต้องการปิดเหมืองจะกระทบชาวบ้านนับพันคนที่จะกลายเป็นคนตกงานไร้อาชีพ

“สิ่งที่เรากังวลคือแผนการฟื้นฟูเหมืองที่วางไว้ยาวคู่กับสัญญาสัมปทานถึงปี 2571 ซึ่งการดำเนินการตามกรอบ EIA และ EHIA ใช้เวลา 7-8 ปี แต่หากต้องเปิดเหมืองภายในสิ้นปีนี้ ระยะเวลาฟื้นฟูเหมืองจะเหลือ แค่ 7 เดือน ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก แต่ทางบริษัทจะไม่หนี จะดูแลฟื้นฟูเหมืองต่อไป อย่างไรก็ดี ยังไม่ได้เห็นคำสั่ง ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่รู้จะวางแนวทางปฏิบัติอย่างไร” ผู้บริหาร บริษัท อัครา รีซอร์สเซสฯ กล่าว

ผู้บริหาร บริษัท อัครา รีซอร์สเซสฯ กล่าวต่อว่า การสั่งปิดเหมืองทองครั้งนี้ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ค่าภาคหลวงปีละ 400 ล้านบาท ในจำนวนนี้กลับคือสู่ท้องถิ่นถึงร้อยละ 60 รวมถึงภาษีที่ทางเหมืองต้องจ่ายให้รัฐอีกปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งแน่ใจว่าไม่มีธุรกิจในจังหวัดพิจิตรที่จะนำเงินเข้ารัฐได้มากเท่านี้ ขณะที่ ผลประกอบการของทางเหมืองสามารถนำรายได้เข้าประเทศได้ปีละ 5,000 ล้านบาท 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง