JapanSalaryman เขียนถึง “อะไรคือสาเหตุที่ทำให้สนามบินฮาเนดะสะอาดที่สุดในโลก”

ต่างประเทศ
18 มิ.ย. 59
21:37
4,646
Logo Thai PBS
JapanSalaryman เขียนถึง “อะไรคือสาเหตุที่ทำให้สนามบินฮาเนดะสะอาดที่สุดในโลก”

วันนี้ (18 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ในเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า JapanSalaryman เขียนบทความที่น่าสนใจ เกี่ยวกับสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพนักงานทำความสะอาดสนามบินฮาเนดะ

“งานทำความสะอาด ยังถูกคนในสังคมมองว่าเป็นงานที่ต่ำอยู่
แต่ฉันไม่สนใจมันหรอก เพราะฉันรักในงานๆ นี้"
"สิ่งที่ฉันทำมันเป็นมากยิ่งกว่าการทำความสะอาด
แต่มันคือการพัฒนาความเป็นอาชีพในงานนี้”

สองประโยคที่ได้ฟังแล้วซาบซึ้งเข้าไปข้างในหัวใจ
ผมไม่รู้ว่าใครจะมองอาชีพเหล่านี้อย่างไร
รู้เพียงแต่ว่า ถ้างานๆ นั้นเป็นงานสุจริต
ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เราก็ควรให้เกียรติกับสิ่งนั้นครับ

ถ้าใครได้มีโอกาสไปใช้บริการสนามบินนานาชาติฮาเนดะกรุงโตเกียว
คุณจะต้องอึ้งถึงความสะอาดของสนามบินแห่งนี้
ที่คว้ารางวัล The World's Cleanest Airpot ของ SKYTRAX
เบื้องหลังความสะอาดนี้มีที่มาที่ไป
เกิดจากความพยายามอย่างเหน็ดเหนื่อยของ "หญิงคนหนึ่ง"

ที่มีชื่อว่า Haruko NIITSU วัย 46
ผู้หญิงที่คอยสั่งสอนลูกน้องจำนวนมากถึง 500 คน
ผู้หญิงที่ทำความสะอาดบริเวณที่สกปรกได้เมื่อไหร่แล้ว..
..หน้าของเธอจะเปื้อนไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข
ผู้หญิงที่ไม่ยอมให้มีสิ่งสกปรกหลงเหลืออยู่ภายหน้า
แม้จะเป็นสิ่งสกปรกเล็กๆ น้อยๆ
ทุกอย่างนี้เพียงเพราะหวังให้ผู้ใช้บริการสนามบินฮาเนดะ มีความสุข

[ วอร์มอัพร่างกายให้พร้อมก่อนทำงาน ]

เธอจะมีนิสัยไปทำงานตั้งแต่เช้าตรู่
ในสถานีรถไฟ ถ้ามีให้เลือกระหว่างบันไดเลื่อน หรือบันได 50 ขั้น
เธอจะเลือกเดินขึ้นด้วยบันไดเพราะถือว่า
เป็นการวอร์มร่างกายก่อนจะทำงานครับ
พอถึงที่ทำงาน เธอก็จะมีกิจวัตรประจำคือการยกดัมเบลข้างละ 5 กิโล
บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและแขนมากกว่า 20 นาทีในทุกๆ วันเช้าเย็น
ซึ่งกิจวัตรนี้มีไว้เสริมสร้างกำลัง เอาไว้ใช้ในการทำงานครับ

งานแรกของทุกๆ วันคือ
เดินตระเวนทุกบริเวณของสนามบินเพื่อเช็คความสกปรก
เอามือถูพิสูจน์แม้กระทั่งหลังทีวีว่าเลอะฝุ่นอยู่มั้ย
เข้าไปในทุกๆ พื้นที่ที่มีความเป็นได้ว่าจะสกปรก
เมื่อเจอก็จะรีบแจ้งลูกน้องให้มาจัดการทำให้สะอาดเรียบร้อย
ถ้าพบว่าจุดไหนทำความสะอาดยากมากๆ จะเป็นหน้าที่ของเธอครับ

เธอมีน้ำยาทำความสะอาดมากถึง 80 ชนิด
เพื่อเลือกใช้ให้ตรงกับประเภทของสิ่งสกปรก
แม้บริเวณที่คนมองไม่เห็น เช่น ใต้ที่กดน้ำเย็น เธอก็ไม่ปล่อยให้มีสิ่งสกปรกหลงเหลือ

[ ทำงานเพื่อเป็นมืออาชีพ ]

เธอทำงานเหนือเกินกว่าคนทำความสะอาดธรรมดา
ในบางจุดที่สกปรก เธอใช้เวลาทำความสะอาดมากกว่า 2 ชม.
เพื่อให้มั่นใจว่าสะอาดแล้ว
เธอบอกตัวเองว่า "จะต้องทำงานแบบมืออาชีพ"
"เพื่อความสะอาด จะยากลำบากแค่ไหนก็ไม่บ่น"

คอยสอดส่องพื้นสนามบินว่ามีฝุ่นมั้ย
เพราะฝุ่นจะทำให้ลูกค้าหรือคนใช้สนามบินเกิดอาการแพ้ได้
โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ร่างกายยังอ่อนแอ
เมื่อคิดได้เช่นนั้น การทำความสะอาดพื้นสำหรับเธอจึงมีคุณค่า

งานทำความสะอาด คือความอ่อนโยน
"ต้องใส่ใจในสิ่งที่ทำ" "ถ้าใส่ใจเมื่อไหร่ เราจะเห็นหลายสิ่งหลายอย่าง
ที่เราอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาและเผลอหลงลืมไป
เมื่อลูกค้าเห็นฉันตั้งใจทำความสะอาด
ลูกค้าก็จะรู้สึกไม่อยากทิ้งเรี่ยราดให้เป็นภาระ
เมื่อเป็นอย่างนั้น ฉันก็อยากทำให้สะอาดมากขึ้น
แล้วเราต้องทำให้ความรู้สึกนี้อยู่กับเราไปตลอด

.
. .
. . .
Haruko NIITSU เป็นคนญี่ปุ่นที่เกิดในประเทศจีน
ครอบครัวเธอย้ายกลับมาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นตอนเธออายุ 17
ระหว่างที่เธออยู่จีน เธอถูกหาว่าเป็นคนญี่ปุ่น
ถูกเพื่อนขับไล่ให้กลับญี่ปุ่น
ตอนกลับมาญี่ปุ่นเธอก็ถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง "คนจีนกลับไป"
สิ่งนี้ทำให้เธอสับสนและเจ็บปวดมาโดยตลอด
ฐานะทางบ้านก็ไม่ค่อยสู้ดีนัก
ทำให้เธอตัดสินใจเข้าทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาด
งานงานเดียวที่รับเธอเข้าไปทำในตอนนั้น เพราะภาษาก็ยังไม่แข็ง
เธอขยันทำงานหลังเลิกเรียนจนสามารถเอาเงินที่หาได้มาเลี้ยงชีวิต
แต่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ผู้คนดูถูก ในจีนประเทศเกิดของเธอ
ก็มองอาชีพนี้ค่อนข้างต่ำ
ในญี่ปุ่นก็เธอก็รู้สึกเหมือนกัน คนไม่มอง ไม่ตอบ ไม่ให้ความสนใจกับคนที่ทำอาชีพทำความสะอาดเสียเท่าไหร่

จนเธออายุ 23 เธอได้เข้าทำงาน
เป็นพนักงานทำความสะอาดของสนามบินฮาเนดะ
แล้วได้เจอกับหัวหน้างานที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล
คุณ Suzuki Masaru ผู้เชี่ยวชาญในวงการทำความสะอาดขนาดคนกล่าวขานกันว่า "ไม่มีอะไรที่เค้าไม่รู้เกี่ยวกับน้ำยาทำความสะอาด และประเภทของความสกปรก"
เมื่อเธอได้ทำงานภายใต้การสั่งสอนของคุณ Suzuki ทำให้เธอเริ่มหลงรักในงานทำความสะอาด พยายามพิสูจน์ตัวเองทุกวิถีทาง
เพื่อให้หัวหน้างานยอมรับในตัวเธอ
หลังจากทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำได้ 3 ปี คุณ Suzuki ก็ส่งเธอเข้าร่วมการแข่งขันทักษะการทำความสะอาดอาคารระดับประเทศ
(Building Cleaning Skills Contest)
เธอมีความมั่นใจในฝีมือและคาดว่าจะได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันนั้น
แต่ผลที่ได้มาคือ อันดับ 2 ครับ

สิ่งที่เรียนรู้จากการแข่งขันครั้งนั้นคือ
จะพัฒนาแต่ทักษะเพียงอย่างเดียวไม่ได้
แต่ต้องรู้จักเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของคนใช้บริการ
หลังจากนั้นเธอจึงให้ความสำคัญ
ทำความสะอาดแม้ในบริเวณที่ยากต่อการมองเห็น ให้ความสำคัญกับเรื่องกลิ่นที่อาจมีผลกระทบต่อจิตใจของผู้ใช้บริการได้

ด้วยทัศนคติแบบนี้ทำให้เธอคว้าอันดับหนึ่งระดับประเทศ
ของนักทำความสะอาดกลับมาได้ในการแข่งขันครั้งถัดไป
และครั้งนั้นทำให้เธอได้รับการยอมรับจากหัวหน้าเป็นครั้งแรก

นี่คือความดีใจสูงสุดอย่างหนึ่งของเธอ
คุ้มกับความพยายามที่ได้ทำมา
พอเธอทำความสะอาดด้วยหัวใจ
ทำให้ผู้คนที่มาใช้บริการสนามบินเริ่มเข้าใจถึงคุณค่าของสิ่งที่เธอทำ
เดินเข้ามาขอบคุณเธอ

นี่ละครับ คุณค่าของการทำงาน
ไม่จำเป็นต้องเป็นต้องสร้างเงิน สร้างรายได้เป็นจำนวนมาก
ขอแค่เป็นงานสุจริต และสร้างภาคภูมิใจ
แค่นี้ก็คุ้มค่าของการมีชีวิตอยู่แล้ว
ตอนนี้เธอกลายเป็นคุณครูสอนงานทำความสะอาด
ให้กับพนักงานคนอื่นๆ รวม 500 คน
ทักษะและความสามารถในการทำความสะอาด
นอกจากอยู่กับตัวเธอแล้ว มันจะถูกถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก
นี่สิครับ …
มืออาชีพในการทำงานตัวจริง
ใครจะมองว่าอาชีพนี้ต่ำอย่างไร ฉันไม่สนใจ
เพราะฉันรัก และมุ่งมั่นเป็นมืออาชีพในงานนี้
ความยิ่งใหญ่ของคนทำความสะอาด
JapanSalaryman

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา JapanSalaryman ก็ได้เขียนบทความไว้

ขณะผมกำลังพิมพ์บทความนี้อยู่
ผมพยายามมองไปรอบๆ ตัว
ใกล้ๆ ตัวมีของวางเรียงรายเต็มโต๊ะไปหมด
ในหลายมุมของบ้านก็ยังมีฝุ่นเขลอะอยู่
แค่พื้นที่เล็กๆ ของบ้าน ก็ยังไม่สะอาดเรียบร้อย
ตัดภาพไปที่สนามบินแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น
สนามบินแห่งนี้มีอาณาเขตกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา
(พื้นที่ทั้ง 3 terminal เท่ากับ 780,000 ตร.ม.
หรือ 16 เท่าของโตเกียวโดม)
มีผู้โดยสารเดินไปมาถึง 200,000 คนในหนึ่งวัน
แต่เชื่อมั้ยว่ามันสะอาดมากๆ ทุกซอกทุกมุม
สะอาดจนได้รับรางวัล The World's Cleanest Airports
จาก SKYTRAX สถาบันจัดอันดับสายการบินนานาชาติ

สนามบินแห่งนี้คือ สนามบินฮาเนดะ (โตเกียว)

เบื้องหลังรางวัลนี้ ต้องยกเครดิตให้กับ
พนักงานทำความสะอาด 700 ชีวิตของสนามบินฮาเนดะครับ
และเบื้องหลังอีกทีของ 700 ชีวิตคืออาจารย์ของพวกเค้า
ต้นแบบการทำความสะอาดระดับมืออาชีพนี้
คุณ NIITSU HARUKO ครับ

สนามบินฮาเนดะ ถูกแบ่งออกเป็น 3 terminal ครับ
มีพนักงานทำความสะอาดดูแลพื้นที่ terminal1 และ 2 รวม
ประมาณ 500 คนแล้ว รวมทุกพื้นที่แล้วมีมากกว่า 700 คน
มีการแบ่งทีม แบ่งกะอย่างเป็นระเบียบ

ถ้าให้พูดถึงการทำความสะอาดในสนามบิน
คนมักจะนึกถึงพื้นสนามบินทั่วไป
ห้องน้ำ อ่างล้างหน้า แต่ทีมนี้ไม่ทำแค่นั้นครับ
เช่น พื้นที่จอดรถบัส Limousine ตั้งแต่ทางลงก็ต้องทำความสะอาด
บริเวณใต้ชายคา รถเข็นสัมภาระ ประตูอัตโนมัติ กระจกหน้าต่าง
ผนังด้านนอก แล้วอีกหลายพื้นที่ที่ถูกจับตามอง
เรื่องความสะอาดอย่างละเอียด

บริเวณที่คนเดินผ่านบ่อยๆ ก็จะเลือกทำความสะอาดตอนเช้าตรู่ หรือช่วงกลางคืน ในเวลาที่มีคนเดินผ่านน้อย เช่น ทำความสะอาดพื้นภายในอาคารสนามบินกันตอน 3 ทุ่มถึงตี 4
ทำความสะอาดฝุ่นบริเวณราวจับบันไดเลื่อน
เพราะอาจก่อให้เกิดไฟฟ้าสถิต
ประตูลิฟท์ พื้นลิฟท์ก็ไม่เว้น

1.เมื่อพบจุดใดสกปรก ให้รีบทำความสะอาด ไม่ปล่อยทิ้งไว้
ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งทำความสะอาดลำบาก
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่พนักงานจะต้องยึดปฏิบัติคือ ให้มี "ความช่างสังเกต"
ที่ที่เราคาดไม่ถึง อาจจะสกปรกก็ได้ ใครจะไปรู้
ก่อนจะโดนติติงจากลูกค้ามา เราก็จัดการภายในให้เรียบร้อยของเราก่อน
2.มีพนักงานเดินตรวจสอบพื้นที่สกปรก
(คนละชุดกับพนักงานทำความสะอาด)
คอยลาดตระเวนภายในสนามบินด้วย ถ้าเจอขยะก็เก็บเอง
ถ้าเดินเหินแบบปกติแล้วเจอจุดที่มีความสกปรกก็จะรีบแจ้งกลับไปที่ศูนย์กลางเพื่อให้ดำเนินการอย่างทันท่วงที
3.ในการทำความสะอาดแต่ละอย่าง ทีมทำความสะอาด
จะมีระบบการตรวจสอบ (check) ที่ครอบคลุม
1.ทำความสะอาดแบบทั่วไป
2.ตรวจสอบโดยพนักงานลาดตระเวน (คนละชุดกับพนักงานทำความสะอาด)
3.พบบริเวณสกปรก --> ติดต่อตรงไปที่ศูนย์กลาง -->ติดต่อไปที่พนักงานทำความสะอาด
4.ดำเนินการทำความสะอาด --> หลังจากจบงานแล้ว ให้กลับไปอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการมอบหมาย
5.พนักงานลาดตระเวนจะดำเนินเรื่องให้จบ
6.สำเร็จ! วนเข้า Loop เดิม 1-5
ยังมีเคล็ดลับอีกจำนวนมาก ซ่อนอยู่ในหลักการบริหารลูกน้องของ NIITSU HARUKO
ตอนต่อไป ผมจะหามาให้ติดตามนะครับ
JapanSalaryman

 

credit บทความ http://toyokeizai.net/articles/-/117252?page=3
credit http://www.nhk.or.jp/professional/2015/0601/

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง