เปิดขั้นตอน ไทยพีบีเอสซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ

สังคม
14 มี.ค. 60
20:04
790
Logo Thai PBS
เปิดขั้นตอน ไทยพีบีเอสซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ
การเผยแพร่ข้อมูลการลงทุนของฝ่ายบริหารไทยพีบีเอส ที่เลือกลงทุนในตราสารหนี้เอกชนของบริษัท ซีพีเอฟ กลายเป็นคำถามว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไทยพีบีเอส ทำได้หรือไม่ เพราะอะไรถึงเลือกบริษัทนี้...

ผู้บริหารไทยพีบีเอส อธิบายว่า การบริหารเงินสดสภาพคล่องรอการจ่ายเพื่อให้เป็นดอกผลกลับมาสู่องค์กร ที่ซื้อตราสารหนี้เอกชนรายนี้ เพราะอยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงทางการเงินต่ำ โดยพิจารณาจากการจัดอันดับเรตติ้ง หรือ ความเสี่ยงที่ดำเนินการโดยบริษัทจัดอันดับความเสี่ยง ที่มาของเงินของไทยพีบีเอสตามกฎหมายแล้ว กระทรวงการคลังจะส่งเงินที่หักจากภาษีสรรพสามิต ให้ไทยพีบีเอสเป็นรายเดือน ตาม พ.ร.บ. สื่อสาธารณะ ซึ่งผู้บริหารจะทราบว่า อะไรคือค่าใช้จ่ายประจำและเงินก้อนไหนที่ยังไม่ได้มีค่าใช้จ่าย จึงเลือกนำไปลงทุน

ขั้นตอน คือ ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ผู้อำนายการไทยพีบีเอส ได้เลือกและแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่ จะเป็นผู้นำเสนอกรอบนโยบายการลงทุน ให้คณะกรรมการบริหาร ไทยพีบีเอสได้พิจารณา ก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย

กรอบนโยบายการลงทุนเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ ที่มีความเสี่ยงต่ำ ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับการจัดอันดับจากบริษัทจัดอันดับความเสี่ยง หรือ ทริสต์ เรตติ้ง ให้เป็นตราสารหนี้ประเภท เอบวก ตราสารหนี้คือ สัญญาให้กู้เงิน ที่กำหนดอายุสัญญาและผลตอบแทนไว้อย่างชัดเจนซึ่งตราสารประเภทนี้ มีทั้งพันธบัตรและหุ้นกู้ โดยหากเป็นสัญญากับรัฐบาลเรียกพันธบัตร หากเป็นเอกชน เรียกหุ้นกู้ ในกรณีนี้ไทยพีบีเอส อยู่ในฐานะผู้ให้กู้

เมื่อคณะกรรมการบริหารเห็นชอบจะเสนอต่อไปที่คณะกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอส เพื่อให้ความเห็นชอบในขั้นสุดท้าย จากนั้นที่ปรึกษาทางการเงินจะเสนอรูปแบบการลงทุนให้กับผู้อำนวยการ และตัดสินใจลงทุน

คำถามคือ ทำไมต้องเลือก ซีพีเอฟ ผู้บริหาร ชี้แจงว่า ณ เวลานั้น มีตราสารหนี้ของเอกชนที่นำเสนอขายในตลาดและอยู่ในกรอบความเสี่ยงทางการเงินต่ำ เป็นที่ยอมรับได้ 2 แห่ง ไทยพีบีเอส เลือกซีพีเอฟ เพราะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ต่อคำถามว่าถ้าหากไทยพีบีเอสมีรายจ่ายเฉพาะหน้า ผู้บริหารจะทำอย่างไร วิธีก็คือ จะขายในตลาดรอง ซึ่งเป็นตลาดตราสารการเงิน ที่เปิดให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ สินทรัพย์ตัวเดิม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ถือสินทรัพย์ ซึ่งสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้รายวัน


ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการลงทุนของไทยพีบีเอส ในหลายประเด็น เพราะถ้าดูสถานะทางการเงินก็ยังไม่พบปัญหาทางการเงินของไทยพีบีเอส จึงเตรียมส่งหนังสือให้เข้ามาชี้แจง นอกจากนี้่ยังอธิบายว่า หาก สตง. ตรวจสอบแล้วพบว่า การลงทุนดังกล่าว ไม่เหมาะสม หรือถึงขั้นผิดกฎหมายก่อตั้งสถานี ก็พร้อมเสนอแนะให้ทบทวนแก้ไขการลงทุนที่เหมาะสม เว้นแต่การลงทุนดังกล่าวจะเกินเลยจนยากต่อการปรับปรุงแก้ไขก็จะกลายเป็นอีกคดีหนึ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง