ธปท.เตรียมตรวจสอบ บลจ.-ธนาคารบางส่วนใช้ช่องโหว่กฎหมายแนะลูกค้าเลี่ยงภาษี

เศรษฐกิจ
25 ก.ย. 60
20:11
907
Logo Thai PBS
ธปท.เตรียมตรวจสอบ บลจ.-ธนาคารบางส่วนใช้ช่องโหว่กฎหมายแนะลูกค้าเลี่ยงภาษี
ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและธนาคารพาณิชย์บางส่วนอาศัยช่องโหว่กฎหมายแนะนำการหลบเลี่ยงภาษีให้ลูกค้า แม้ผิดจรรยาบรรณและขัดหลักธรรมาภิบาล โดยพร้อมร่วมกับกรมสรรพากรขยายผล

วันนี้ (25 ก.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมแห่งหนึ่ง เดินรณรงค์เชิญชวนนักลงทุน เลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีธรรมาภิบาล หวังกระตุ้นให้ตระหนักถึงการทำธุรกิจที่ดีและโปร่งใส ไม่ใช่แค่สร้างผลกำไรสูงๆ เพียงอย่างเดียว

สอดคล้องกับความเห็นของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ออกมาเปิดเผยปัญหาการทำธุรกิจไร้จรรยาบรรณของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบางแห่งออกหนังสือชี้ชวนลงทุนที่ทำให้เชื่อว่ามีนโยบายลงทุนกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ระดับท็อป แต่กลับซ่อนเงื่อนไขการลงทุนด้วยตัวอักษรเล็กๆ ว่าสามารถลงทุนกับบริษัทอื่นๆ ได้ สุดท้ายกองทุนดังกล่าวลงทุนในตั๋วเงินไร้อันดับ สร้างความเสียหายให้นักลงทุนรายย่อย แต่กลับฟ้องร้องดำเนินคดีอะไรไม่ได้

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ระบุว่า มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ทำพฤติกรรมแบบนี้ไม่กี่แห่ง สมาคมฯ ต้องคอยสอดส่องเตือนกันเอง

ไม่เพียงฟากธุรกิจในตลาดทุนที่ต้องดิ้นรนแข่งขันกันในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ธุรกิจธนาคารก็มีปัญหาธรรมาภิบาลไม่ต่างกัน หลังธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กบางแห่งอาศัยช่องโหว่กฎหมายในประกาศยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า 20,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีไม่น้อยกว่า 16 ล้านบาท ช่วยลูกค้าเลี่ยงภาษี โดยแจ้งเตือนลูกค้าให้ปิดบัญชี ก่อนครบกำหนดดอกเบี้ยตามเงื่อนไขและเปิดบัญชีใหม่

จนกระทรวงการคลังมีแนวคิดยกเลิกการยกเว้นภาษี แต่ให้ยื่นขอเงินคืนภาษีภายหลังแทน แต่ผู้ฝากเงินบางส่วนไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขที่ธรรมาภิบาลธนาคาร แทนการเหวี่ยงแหแก้ปัญหา เพราะมีผลทางจิตวิทยา ซ้ำเติมให้ประชาชนหมดหวังการออม

ขณะที่นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเร่งติดตามตรวจสอบธนาคารที่มีพฤติกรรม ไร้จรรยาบรรณ โดยจะหาข้อเท็จจริงต่อไปอีกว่าเป็นพฤติกรรมทั่วไป หรือ เฉพาะสาขา หรือพฤติกรรมรายบุคคลของพนักงานที่ต้องการเอาใจลูกค้ารายใหญ่เป็นกรณีพิเศษ ก่อนประสานกรมสรรพากรขยายผลขยายผลเรื่องนี้ต่อไป

ปัจจุบัน คนไทยที่มีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์มากกว่า 10 ล้านบาท มีประมาณ 53,900 บัญชี มีเงินหมุนเวียนในนี้มากกว่า 956,000 ล้านบาท เงินจำนวนมหาศาลนี้กลายเป็นเป้าหมายที่ของธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องการ แม้ต้องแลกกับทำธุรกิจ โดยขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง