อีก 1.6 หมื่นรายรอ "ใบรับรอง"งาช้าง มั่นใจปี 62 หลุดแบล็กลิสต์

สิ่งแวดล้อม
28 ก.พ. 61
16:51
2,673
Logo Thai PBS
อีก 1.6 หมื่นรายรอ "ใบรับรอง"งาช้าง มั่นใจปี 62 หลุดแบล็กลิสต์
กรมอุทยานฯ เร่งทยอยออกใบรับแจ้งการครอบครองงาช้างให้กับผู้แจ้งขึ้นทะเบียนอีก 16,000 ราย คาดสิ้นปีนี้แล้วเสร็จ ชี้แนวโน้มร้านค้างาช้างลดลง มั่นใจการเวทีไซเตสปี 2562 ที่ประเทศศรีลังกา ไทยจะหลุดจากแบล็กลิสต์ค้างาช้าง

วันนี้ (28 ก.พ.2561) นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กูล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงความคืบหน้าการจดทะเบียนครอบครองงาช้าง ว่า ขณะนี้มีการจดทะเบียนครอบครองงาช้าง 16,000 ราย หลัง พ.ร.บ.งาช้าง พศ.2558 มีผลบังคับใช้ โดยกรมอุทยานฯ ทยอยออกใบรับแจ้งการครอบครองงาช้าง (แบบ งช.2) และออกใบรับรองการครอบครองงาช้าง (แบบ งช.3) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

ทั้งนี้ มีร้านจำหน่ายงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์งาช้างที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ 240 แห่ง ปัจจุ บันเหลือเพียง 120 แห่ง และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด การตรวจสอบช้าง และงาช้าง จะมีข้อมูลที่ครบถ้วนสอดคล้องกัน หากมีการอ้างเป็นงาช้างที่ได้รับใหม่ ก็สามารถตรวจหาแม่ช้างได้ เนื่องจากมีข้อมูลดีเอ็นเอ

ขณะที่ไซเตสค่อนข้างพอใจกับมาตรการดังกล่าว คาดว่าการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 18 ในปี 2562 ที่ประเทศศรีลังกา ไทยจะหลุดจากประเทศ Primary Concern หรือประเทศที่น่าเป็นห่วงเรื่องการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย เพราะรับทราบถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ช้างและต่อต้านการลักลอบล่าและค้างาช้างผิดกฎหมาย

 

ร้านค้าจะเหลือเฉพาะร้านใหญ่ แนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เพราะมีการตรวจสอบ และอายัดสินค้าบางส่วน  โดยไซเตสห่วงเรื่องการค้างาช้างเลี้ยง หรืองาช้างบ้านมากกว่า เพราะอาจเป็นเหตุให้มีการลักลอบนำงาช้างป่า หรืองาช้างแอฟริกามาผสม ซึ่งไทยออกกฎหมายควบคุมและสุ่มตรวจตัวอย่างดีเอ็นเอ ช้างเลี้ยงทุกตัวเราเจาะเลือดมาหมดแล้ว ทำตั๋วรูปพรรณใหม่ นำช้างมาย้อมแมวยาก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.-21 เม.ย.2558 กรมอุทยานฯ ได้แจ้งให้ผู้ที่มีงาช้างบ้านในครอบครอง ขึ้นทะเบียนทำบัญชีการครอบครอง เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบค้างาช้าง หลัง พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่งาช้าง 2 คู่ที่ยึดจากบ้านของในคดีของนายเปรมชัย กรรณสูต  ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเว๊ลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในคดีลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก ซึ่งผลสรุปว่าเป็นงาช้างแอฟริกา ขั้นตอนต่อไปจะต้องถูกยึดเป็นของแผ่นดิน และถือว่าทำผิดข้อหาครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากช้างแอฟริกา ได้ถูกบรรจุในพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง