เบื้องหลัง! "สับปะรด" ภูแลล้นตลาด

สิ่งแวดล้อม
20 มิ.ย. 61
11:13
17,715
Logo Thai PBS
เบื้องหลัง! "สับปะรด" ภูแลล้นตลาด

สับปะรดคือสินค้าเกษตรมีชื่อเสียงของ จ.เชียงราย เน้นส่งออกไปยังจีนและเพื่อการบริโภค โดยตลอดสองข้างทางบนถนนพหโยธิน จาก อ.เมือง ถึง อ.แม่สาย จะพบเห็นแผงขายสับปะรดจนเป็นภาพที่คุ้นชินตา

สับปะรดภูแล และนางแล เกษตรกรไม่ได้ปลูกปีเดียว ทยอยปลูกมากขึ้นตั้งแต่ปี 2558 แม้ช่วงนั้นประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ที่ภาคอื่นอาจประสบปัญหา แต่ที่ จ.เชียงราย สับปะรดกลับเติบโตได้ดี ทำให้ราคาหน้าสวนปีนั้นเคยขายได้กิโลกรัมละ 18-20 บาท ราคที่สูงและปลูกง่ายทำให้ตอนนี้ใน จ.เชียงราย มีพื้นที่ปลูกถึง 67,000 ไร่ จากเดิมที่เคยปลูกสับปะรดพันธุ์ภูแล และนางแล ที่ปลูกกันมากในเขต ต.บ้านดู่ ต.นางแล และ ต.ท่าสุด เนื้อที่กว่า 4,500 ไร่เท่านั้น

สับปะรดเป็นพืชที่ปลูกง่าย ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ หากลงพื้นที่ร้านขายสับปะรดทั่วไป จะพบร้านขายหน่อพันธุ์ ที่เห็นกองใหญ่ตลอดริมถนน 1 กอง จะมีมากกว่า 30 หน่อ จำหน่ายเพียงกองละ 100 บาท ทำให้การกระจายพื้นที่ปลูกได้อย่างรวดเร็ว

สับปะรดเองเป็นพืชไม่ต้องการน้ำมาก ทนแล้ง เกษตรกรจะเริ่มปลูกกันตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. การปลูกเพียงเตรียมดินรองหลุม หากสับปะรดหน่อใหญ่ปลูกเพียง 8 เดือน ก็ได้ผลผลิตแล้ว หากเป็นสับปะรดหน่อขนาดเล็กก็อาจใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นหน่อยปลูกเพียง 1 ปี ก็ได้ผลผลิตแล้ว ดังนั้นสับปะรด จึงเป็นพืชที่ปลูกให้ผลผลิตเร็วจึงเสี่ยงต่อผลิตที่จะล้นตลาด

นางธนิสร กระดุมพร เกษตรกรที่ใน จ.เชียงราย บอกว่า การปลูกสับปะรดแต่ละครั้ง สามารถเก็บผลผลิตได้ต่อเนื่องนาน 5-6 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแล หากต้องการผลผลิตต่อไร่สูงก็ต้องใส่ปุ๋ย และยากำจัดหญ้า

ดังนั้น ต้นทุนการผลิตสับปะรดใน จ.เชียงราย จึงมีราคาค่าปุ๋ย ค่าหน่อพันธุ์ ยาฆ่าหญ้า-แมลง ราคาต้นทุนต่อไร่ไม่สูงมากนัก เมื่อผลิตในจังหวัดล้นตลาด และไม่มีตลาดรับซื้อราคาก็ตก การที่เกษตรกรจะขนไปขายในโรงงานที่อยู่ภาคใต้ หรือภาคตะวันออก หรือจะไปส่งตลาดรับซื้อใหญ่ๆในกรุงเทพฯ ต้นทุนค่าขนส่งก็เพิ่มมาอีกอาจไม่คุ้มค่ากับราคาที่เป็นอยู่ขณะนี้เพียง 2 บาท

และนี่คือปัญหาสับปะรดเชียงรายที่ไม่มีตลาดรับซื้อเพียงพอกับผลผลิตที่ออกมากปีนี้ เกษตรกรบางส่วนจึงปล่อยให้เน่าในสวน หากลงทุนค่าปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า หรือแมลง หรือไปเช่าพื้นที่ปลูก ก็ขาดทุนหนักปีนี้

 "สับปะรด" ภูแลล้นตลาด ราคาตกเหลือ กก. 1-2 บาท

สับปะรดพันธุ์ภูแล และนางแล เป็นสับปะรดที่มีชื่อเสียง ปีที่แล้วเคยขายได้ราคาสูงสุด หน้าสวนกิโลกรัมละ 18-20 บาท ปีนี้ด้วยสภาพอากาศที่เหมาะสมและพื้นปลูกเกือบ 70,000 ไร่ ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเกือบ 200,000 ตัน ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับทำให้ราคาตกต่ำ

เจ้าอาวาวัดห้วยปลากั้ง อ.เมือง จ.เชียงราย ที่รับซื้อจากเกษตรกรนำมากองแจกฟรีให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ที่บริเวณอนุสาวรีย์พญามังราย หลังสับปะรดกำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ และมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ขายได้เพียงกิโลกรัมละ 1-2 บาท เท่านั้น

แม้จะมีการรณรงค์รับซื้อจากเกษตรกรยังมีผลิตอีกจำนวนมากที่รับซื้อทั้งหมดไม่ได้ เกษตรกรหลายคนจึงต้องนำไปเร่ขายในจังหวัดหรือข้ามจังหวัด เช่นที่ จ.เชียงใหม่ ก็เต็มไปด้วยรถขายสับปะรดของเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่ขนใส่กระบะมาจาก จ.เชียงราย ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร

ชาวสวนเดือดร้อน สับปะรดขายไม่ออก

ในสื่อสังคมออนไลน์เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดใช้ชื่อเฟซบุ๊ก สุภาภรณ์ ดวงแก้ว ต้องโพสต์เฟซบุ๊กระบายความเดือดร้อน หลังปีนี้สับปะรดนางแล และภูแล ใน จ.เชียงราย แทบไม่ได้ขายถึงแม้จะมีราคาถูกลงแต่กลับไม่มีคนซื้อจะแปรรูปก็ไม่ไหว เนื่องจากผลผลิตมีมากเกินไปทำให้ต้องนำไปให้วัวกิน โดยอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ

“ปีนี้คิดว่าจะไม่โพสต์เรื่องสับปะรดแล้ว ดูเอา สับปะรดนางแลและภูแล ตอนนี้แทบไม่ได้ขาย ปีนี้ราคาถูกแต่ไม่มีคนซื้อยิ่งกว่าปีที่แล้วอีก หน่วยงานไหนก็ไม่มาช่วย ตอนที่จะเอาผลงานให้อบรบนั่นอบรมนี่ ชาวสวนก็ไป แต่พอสับปะรดขายไม่ได้ ชาวสวนเดือดร้อน ไม่เห็นมีใครยื่นมาเข้ามาช่วยสักราย แปรรูปก็ไม่ไหว มันเยอะมาก ทางออกสุดท้าย ก็ให้วัวกินอย่างเดียว แล้วปีนี้จะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ล่ะพี่น้อง”

สำหรับสับปะรดใน จ.เชียงราย จากที่เคยปลูกมากในพื้นที่ อ.เมือง ใน ต.นางแล และตำบลใกล้เคียงมีพื้นที่ปลูกประมาณ 4,500 ไร่ แต่ปัจจุบันมีการปลูกเพิ่มมากขึ้น เพราะปีก่อนหน้านี้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 18-20 บาท จึงทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกว่า 67,924 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ปัตตาเวีย 45,900 ไร่ พันธุ์ภูแล 18,814 ไร่ และนางแล 3,220 ไร่ คาดมีผลผลิตรวมถึง 170,000 ตัน

 

ทำประกันราคา แก้ปัญหาราคาตก

ผลผลิตสับปะรดที่ออกมาก มีต้นทุนการผลิต และราคาตกไปถึงกิโลกรัมละ 1-2 บาท แม้อาจจะไม่คุ้มค่าการขนส่งและค่าแรงงาน แต่ปัญหาใหญ่ที่มากกว่านั้นคือไม่มีตลาดรองรับ การที่เกษตรกรจะได้ทุนคืนนั้นอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะแม้แต่การจะได้เงินคืนจากการปลูกบ้างก็ยังยากตอนนี้ แล้วทางออกปัญหานี้แก้อย่างไร

ขณะที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการ 2 ระยะ คือระยะยาว 1.เร่งจัดหาโรงงานแปรรูปภายในจังหวัด และ 2.ให้เกษตรกรทำ Contract Farming โดยมีการตั้งราคาประกันแก้ปัญหาราคาตกต่ำ

ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น ตอนนี้เร่งให้หน่วยงานราชการในจังหวัดช่วยซื้อผลผลิตทางการเกษตร และกระจายตามห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆ โดยในระหว่างวันที่ 4-6 ก.ค.นี้ เตรียมจัดกิจกรรมสัปดาห์บริโภคสับปะรด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี สมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ยอมรับปัญหาสับปะรดที่ล้นตลาด ส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่เหมาะสมในปีนี้ ย้ำว่าอาจต้องควบคุมพื้นที่การปลูก และเร่งให้ข้อมูลเกษตรกร

ด้าน รศ.ณัฐา โพธาภรณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดไม่ใช่เพียงสับปะรดที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหา เช่น ยางพารา ก็เป็นพืชที่เกษตรกรภาคเหนือแห่กันปลูกกันมาก เพราะราคายางสูง แต่เมื่อราคาตกต่ำก็โค่นยางปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ทุเรียน ที่ราคาสูงในตอนนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมข้อมูลให้เกษตรกร และจริงจังจำกัดพืชเพาะปลูกบางชนิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม


เตือนผู้ปลูกสับปะรดรายใหม่ "ส่อเจ๊ง" แบกต้นทุนไร่ละ 1.5 หมื่นบาท 

"แจกฟรี" รัฐ-เอกชนรับซื้อสับปะรดช่วยชาวไร่พ้นวิกฤติ 

รู้จัก 14 สายพันธุ์สับปะรดปลูกในไทย 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง