กสม.หนุนยกเลิกเด็กอนุบาลสอบเข้า ป.1 -หารูปแบบอื่น

สังคม
27 ม.ค. 62
16:40
1,762
Logo Thai PBS
กสม.หนุนยกเลิกเด็กอนุบาลสอบเข้า ป.1 -หารูปแบบอื่น
กสม. ส่งหนังสือถึง สนช.เสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ... หนุนไม่ให้มีการสอบเข้าเรียนชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กตามวัย แนะหาแนวปฏิบัติอื่นการันตีโรงเรียน จะไม่ใช้การสอบแข่งขัน

วันนี้(27 ม.ค.2562) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรม การสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ...ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับหลักการเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2561 และขณะนี้ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเห็นว่า เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

กสม.จึงมีมติให้เสนอความเห็นต่อรัฐสภา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และลงนามในหนังสือส่งความเห็นนี้แจ้งประธาน สนช. เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 

ทั้งนี้ กสม. เห็นว่าโดยทั่วไปร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีสาระสำคัญที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัยขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้านการศึกษา โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้ ซึ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา และเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กวัยนี้แบบองค์รวม ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

ตามแนวคิดว่าด้วยการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยของยูเนสโก เด็กปฐมวัย หมายถึงเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ปี หรือนับแต่วัยทารก วัยเรียนระดับอนุบาล จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 2 ดังนั้นการที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ (มาตรา 3) นิยาม “เด็กปฐมวัย” หมายถึง เด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 6 ปีบริบูรณ์และให้หมายความรวมถึงเด็ก ซึ่งต้องได้รับการพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา จึงน่าจะไม่สอดคล้องแนวคิดว่าด้วยการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัย 

 

หนุนไม่ให้อนุบาลสอบเข้าป.1 

นายวัส กล่าวว่า การที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 14 (6) และ (7) กำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาในระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย กสม. มีความเห็นว่า มาตรฐาน แนวปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ควรคำนึงถึงพัฒนาการของเด็ก และการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมในด้านต่างๆ ของเด็ก

นอกจากนี้ ควรจัดให้มีหลักสูตรแกนกลางในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและหลักสูตรสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งให้มีการประเมินผลการนำไปใช้ด้วย ส่วนการขับเคลื่อนนโยบาย ติดตาม กำกับ ดูแลและประเมินเด็กประถมวัยทั้งระบบ ควรมอบหมายให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เป็นหน่วยงานประสานให้เกิดเอกภาพ

จากผลการศึกษาวิจัยเรื่องผลจากระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบว่า การคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันจะส่งผลทางลบต่อพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา การเน้นให้เด็กเรียนรู้ด้วยการท่องจำและฝึกทักษะทางวิชาการ ทำให้สมองของเด็กวัยนี้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมกับวัยทั้งยังส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวด้วย

แม้ว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 8) กำหนดว่า การจัดการเรียนรู้ของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย แต่ต้องไม่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสอบแข่งขันระหว่างเด็กปฐมวัย

ร่างพระราชบัญญัตินี้ ควรมีมาตรการหรือแนวปฏิบัติอื่นที่เป็นหลักประกันว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและโรงเรียนระดับประถมศึกษาจะไม่ใช้การสอบแข่งขันในระหว่างที่เด็กอยู่ในสถานพัฒนาดังกล่าวหรือในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตามติดชีวิตเด็กสอบเข้า ป.1 กับอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง