เลือกตั้ง 2562 : มั่นใจ "พปชร." แกนนำตั้งรัฐบาล

การเมือง
8 พ.ค. 62
10:19
855
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2562 : มั่นใจ "พปชร." แกนนำตั้งรัฐบาล
"อุตตม" เผย นัดสัมมนา ส.ส.พรรคทั้งหมด สัปดาห์หน้า เตรียมพร้อมก่อนเข้าสภา ขอทุกพรรคเคารพมติ ศาลรัฐธรรมนูญ ปมสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังมั่นใจ พรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แต่ยังไม่เคาะตำแหน่ง รอคุยพรรคร่วม

วันนี้ ( 8 พ.ค.62) นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติคำวินิจฉัย สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า ต้องรอฟังคำวินิจฉัย เข้าใจว่าช่วงเช้าวันนี้คงทราบผล และต่อเนื่องด้วยการติดตามการแถลงรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งนี้ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไรทุกพรรคการเมืองควรเคารพกฎกติกา เพราะศาลถือเป็นสถาบันสำคัญ ผลออกมายังไงก็ควรยึดตามนั้น

ส่วนทิศทางของพรรคก็เดินหน้าต่อเต็มที่ เริ่มจากการประชุมสัมมนา ส.ส.ทั้งหมดของพรรคในสัปดาห์หน้า เพื่อเตรียมการซักซ้อม เพราะพรรคมี ส.ส.ใหม่จำนวนมากที่ไม่เคยเข้าสภามาก่อน ขณะเดียวกันในส่วนของงานการเมืองพรรคก็จะเดินหน้า ประสานพรรคอื่นๆที่ร่วมอุดมการณ์และสนใจมาร่วมกันตั้งรัฐบาล

นายอุตตม มั่นใจว่า พรรคพลังประชารัฐ จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้โอกาสทำงานกับพรรคที่มีแนวทางการทำงานแบบเดียสกัน แต่ต้องรอให้ทุกอย่างเรียบร้อยก่อน ส่วนตัวเลขที่มีการประเมินออกมาว่าฝั่ง พรรคพลังประชารัฐรวมเสียงได้ 256 เสียง เป็นการประเมินตามปกติ พรรคก็ได้มีการประเมินเช่นกัน หากวันนี้ กกต.รับรองผลเรียบร้อยก็จะมาพูดคุยกัน เพราะตัวเลขจะชัดเจนขึ้น

ส่วนประเด็นว่าที่ ส.ส.ของพรรค ถูกร้องเรียนเรื่องการถือหุ้นสื่อและตนเองในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นผู้เซนต์รับรองนั้น นายอุตตม กล่าวว่า  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้สมัคร และว่าที่ ส.ส.เกือบทุกพรรค โดยได้หารือแนวทางโดยดูเป็นรายกรณี หากเกี่ยวกับพรรค เราพร้อมชี้แจงในทุกประเด็น และเดินตามขั้นตอนไม่มีอะไรมากกว่านั้น

นายอุตตม ยังกล่าวถึงกรณีกระแสคัดค้านให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีว่า พรรคพลังประชารัฐยืนยันในเรื่องที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังใช้ครั้งแรก ซึ่งควรเคารพกติกาปัจจุบัน เดินตามนั้น บทบาท ส.ว.เป็นอย่างไรให้เป็นตามนั้น และควรให้เกียรติให้โอกาส ส.ว ได้ทำหน้าที่ไม่ควรพูด หรือตีกันไว้ก่อนว่ามาแล้วจะเข้าข้าง หรือช่วยฝ่ายใด เพราะบ้านเมืองต้องเดินหน้า เช่นเดียวกับรัฐมนตรี 15 คน ที่ลาออกมารับตำแหน่ง ส.ว.ก็ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ ลองพิจารณารัฐมนตรีที่ลาออกทุกคนมีคุณสมบัติพร้อม เพราะตนเองเคยร่วมงานด้วย ประเทศไทยต้องการผู้มีความสามารถ โดยบุคคลเหล่านี้มีความพร้อมทำงาน อย่าไปเกี่ยงว่า เคยทำงานในรัฐบาลแต่วันนี้ไปอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่เหมาะ เพราะทุกคนมีคุณสมบัติ ส่วนการปฏิบัติตัวก็อยู่ในสายตาประชาชน

ส่วนประเด็นการจัดสรรตำแหน่งใน ครม.ส่วนตัวไม่ขอให้ความเห็น เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาและมีอีกหลายขั้นตอนที่จะไปสู่การตั้งครม.ยังไม่ทราบว่ามีใครอยู่บ้าง เพราะพรรคยังไม่ได้คุยเรื่องตำแหน่ง ขณะนี้เอาเรื่องของพรรคก่อน เพราะการจัดสรรตำแหน่ง ต้องหารือกับพรรคร่วมด้วยว่าบทบาทของพรรคต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร ทำงานอย่างไร และยังบอกไม่ได้ว่าจะชัดเจนเมื่อใดเกี่ยวกับหน้าตาของพรรคร่วมรัฐบาล

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง