ปัจจัยเสี่ยงที่ รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" ต้องเผชิญ

การเมือง
8 มิ.ย. 62
11:36
660
Logo Thai PBS
ปัจจัยเสี่ยงที่ รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" ต้องเผชิญ
การจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ 19 พรรคการเมือง ของ รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" ในมุมมองของนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ ต่างวิเคราะห์สอดคล้องกันว่า เป็นความท้าทาย และมีปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องเผชิญ
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ทิศทางของ "รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์" นับจากนี้ ถ้าฟังการวิเคราะห์จากนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ อย่าง ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจเดี่ยวจาก คสช.ไปเป็นรัฐบาลผสมดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก ทั้งการจัดสรรตำแหน่งคณะรัฐมนตรีที่มีพรรคร่วมรัฐบาลถึง 19 พรรค ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ท่ามกลางการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ซึ่งมีคะแนนมากกว่าฝ่ายค้านแค่ 4 เสียงเท่านั้น

เมื่อก่อน 8 - 9 พรรคก็ตั้งคณะรัฐมนตรียาก ครั้งนี้ 19 พรรคจะตั้งอย่างไร ปัญหาต่อมาคือ แกนนำของพรรคพลังประชารัฐเสียงก็ไม่ได้เยอะมาก อำนาจต่อรองจริง ๆ จึงไม่ได้เยอะ เพราะตัวเองชนะมาเป็นอันดับ 2 มี 100 กว่าเสียง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยมี 50 กว่าเสียงด้วยกันทั้งคู่ 2 พรรคนี้รวมกันเสียงเท่ากับพรรคพลังประชารัฐ ฉะนั้นอำนาจต่อรองมันก้ำกึ่งกัน รวมถึงการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งมา 4 เสียง หมายความว่า พรรคขนาดเล็กที่มี 5 เสียงก็สามารถต่อรองได้ รัฐบาลก็อาจจะล่มได้

ขณะที่ การทำหน้าที่ของ ส.ว.ที่โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ครบทั้ง 249 เสียง หากไม่รวมนายพรเพชร พิชิตชลชัย ซึ่งงดออกเสียง เพราะทำให้หน้าที่ควบคุมการประชุมรัฐสภา

 

ผศ.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ผศ.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ผศ.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

 

มีการตั้งข้อสังเกตจาก ผศ.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับบทบาท ส.ว.หลังจากนี้ ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ ส.ว.ใช้อำนาจตรวจสอบไม่ได้เต็มที่

 

หากพูดว่านิติรัฐอาจเข้าใจเพียงว่าทำตามกฎหมาย กฎหมายเขียนแบบนี้ก็ใช้ไปตามกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วหลักนิติรัฐพูดถึงหลักสำคัญเรื่องหนึ่งคือการตรวจสอบการใช้อำนาจ ซึ่งต้องทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรอง คุ้มครอง และตรวจสอบได้ โดยใช้อำนาจผ่านรัฐบาล ผ่านรัฐสภา หรือแม้แต่องค์กรตุลาการก็จะต้องสามารถถูกตรวจสอบการใช้อำนาจเหล่านี้ได้ อันนี้จึงจะอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม ในความหมายที่แท้จริง

 

นอกจากนี้การเลือกตั้งและได้นายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ถูกสะท้อนจากนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยแต่เป็นสถานการณ์ที่ประนีประนอมอำนาจกับพรรคการเมือง และทำให้รัฐบาลประยุทธ์ถูกมองว่า ยิ่งมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นอีก จากเดิมที่มีอำนาจเต็มอยู่แล้วในช่วง 5 ปี ในยุคที่เป็น "รัฐบาล คสช."

 

นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แก่นแท้ของมันก็คือระบบ คสช.แบบเดิม เพียงแต่มีการประนีประนอมอำนาจกับพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งแบ่งปันผลประโยชน์กันได้เพิ่มขึ้น และรักษาฐานกลุ่มคนสนับสนุนกลุ่มเดิมเอาให้ได้ มันไม่เหมือนทฤษฎีการเปลี่ยนผ่าน หรือทฤษฎีไฮบริจด์ (ลูกผสม) 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะทฤษฎีไฮบริจด์มันจำนนต่อสถานการณ์จำนวนมาก ในช่วงที่เขาเลือกจะทำเพราะเขาจะอยู่ในอำนาจ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยตกอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างจริงจังทั้ง 5 ปี และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีอำนาจมากขึ้นเพราะสามารถระบุได้ว่าใครเป็นพันธมิตรกับเขา

 

นายพิชญ์ ยังวิเคราะห์ว่า ฐานอำนาจการเมืองของ คสช. ยังวางโครงสร้างล่วงหน้ามาแล้ว และต่อเนื่องไปอีก 20 ปี จากโมเดลยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ทุกรัฐบาลต้องขับเคลื่อนผ่านกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นหมากของ คสช.ที่ตั้งใจไว้แล้ว และหากรัฐบาลใดไม่ดำเนินการ ก็มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง