เสนอ 9 กลไกคุ้มครองตามกฎหมาย ป้องกันเหตุรุนแรงในครอบครัว

สังคม
6 ส.ค. 62
15:16
1,725
Logo Thai PBS
เสนอ 9 กลไกคุ้มครองตามกฎหมาย ป้องกันเหตุรุนแรงในครอบครัว
เปิดเรื่องเล่าอดีตผู้ต้องขังหญิง เหยื่อรุนแรงในครอบครัว สอดคล้องผลสำรวจ ชี้ กว่าร้อยละ 82 ไม่กล้าขอความช่วยเหลือเพราะอาย และไม่เชื่อมั่นกระบวนการช่วยเหลือ ด้านภาคประชาสังคม ร่วมถอดบทเรียน พร้อมยื่นข้อเสนอ 9 ข้อ ถึงอธิบดีกรมกิจการสตรีฯ พม.


วันนี้ (6 ส.ค.2562) เครือข่ายด้านการคุ้มครองสิทธิสวัสดิภาพทางสังคม เปิดเวทีเสวนา "เรื่องเล่าผู้ประสบความรุนแรงและคนทำงานคุ้มครองสิทธิ" นำเสนอประสบการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนในครอบครัว สะท้อนปัญหาสังคมที่ยังมีอยู่และถูกซ่อนไว้ใต้พรม

การแบ่งปันประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวผ่าน "มีดทำครัวกับความรุนแรงในวันนั้น" ของหญิงสาวในชุดกระโปรงลายดอก ที่เล่าย้อนประสบการณ์ในเรือนจำ หลังตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าสามี จากเหตุบันดาลโทสะ ฝันร้ายในวันนั้น ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตที่ยังต้องเข้ารับการรักษาถึงปัจจุบัน แม้จะยอมรับผลของการกระทำ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอเองคือหนึ่งในเหยื่อของการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวซ้ำๆ ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ

นี่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการถอดบทเรียน จากกรณีศึกษาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและครอบครัว โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายด้านการคุ้มครองสิทธิสวัสดิภาพทางสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

 

ผลสำรวจชี้ ร้อยละ 82.6 ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ


การสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวของไทย โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในปี 2560 พบว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวทางด้านจิตใจสูงสุดถึงร้อยละ 32.3 รองลงมาคือความรุนแรงทางร่างกาย ร้อยละ 9.9 และทางเพศร้อยละ 4.5

ผลสำรวจยังพบว่า ร้อยละ 82.6 ของคนที่ประสบปัญหาความรุนแรง ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือบุคคลอื่น ด้วยเหตุผลหลัก คือ อาย ไม่กล้า และไม่เชื่อมั่นในกระบวนการช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ระบุว่า การถอดบทเรียนครั้งนี้เป็นอีกกลไกที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ ร่วมกับการออกกฎหมายลูกอีก 9 ฉบับ เพื่อให้กลไกการทำงานคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย หรือถูกกระทำมากที่สุด พร้อมเดินหน้าสร้างกลไกช่วยเหลือที่เข้มแข็ง รวดเร็ว และทั่วถึง

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า กลไกทางกฎหมายจะเพิ่มช่องทางคุ้มครองผู้เสียหายจากการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งอาจเป็นเหตุยับยั้งและช่วยลดอัตราเหตุรุนแรงในครอบครัวได้

 

ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้กระทำซ้ำ กฎหมายฉบับใหม่ ศาลอาญาและศาลเยาวชนฯ สามารถออกคำสั่งคุ้มครองผู้เสียหายชั่วคราวได้ทันที เช่น สั่งห้ามสามีเข้าใกล้ภรรยาในเวลา 48 ชั่วโมง

 

 



ยื่น 9 ข้อเสนอ สร้างกลไกคุ้มครองตามกฎหมาย


เครือข่ายด้านการคุ้มครองสิทธิสวัสดิภาพทางสังคม ยังได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวที่ประสบความรุนแรง เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ต่ออธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มีสาระสำคัญ 9 ข้อ

  1. มีความชัดเจนในการควบคุมผู้กระทำด้วยความรวดเร็ว มีสถานที่ในการควบคุมผู้กระทำเพื่อไม่ให้กลับมาทำร้ายได้
  2. ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวร่วมกับเขต และผู้นำชุมชนในท้องที่และท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและตลอดไป
  3. มีนักสังคมสงเคราะห์ทุกโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงชุมชนและชนบทต่างๆ ควรมีคลินิกให้คำปรึกษาเรื่องความรุนแรงกระจายอยู่ทั่วประเทศ
  4. มีการจัดการให้ความรู้ ความเข้าใจ จัดการอบรมให้กับหน่วยงานตำรวจ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 อย่างทั่วถึง เพื่อความเข้าใจ และบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน ถูกต้อง และเป็นธรรม
  5. หากเหตุเกิด ผู้ประสบเหตุมีการแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแจ้งหรือประสานไปยังศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวได้ทันที (ตามมาตรา 25)
  6. ให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการบำบัดผู้กระทำความรุนแรงร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว
  7. กำหนดระเบียบ วิธีปฏิบัติ ตามมาตรา 37 ให้ชัดเจนว่า “กรณีจำเป็นเร่งด่วน” แค่ไหน เพียงใด และกำหนดให้หัวหน้าศูนย์มีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครอง “ชั่วคราวได้เท่าที่จำเป็น” ระยะเวลาเท่าไหร่ และหากผู้กระทำฝ่าฝืนคำสั่งจะมีบทลงโทษอย่างไร
  8. ให้ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวมีระบบจัดการอย่างเป็นระบบ การรับเรื่องควรมีเจ้าหน้าที่ ที่มีความเข้าใจแนะนำ หรือแจ้งสิทธิ และชี้ช่องทางในการช่วยเหลือ การติดต่อประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำโดยการส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ
  9. ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว สามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาตลอด 24 ชั่วโมงไม่เว้นวันหยุด เพื่อให้ผู้ประสบปัญหาได้รับการช่วยเหลืออย่างทันถ่วงที


ภายในงาน ยังมีตัวแทนฝ่ายการเมือง เช่น นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว และเป็นผู้อภิปรายประเด็นความรุนแรงในครอบครัว สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทำงานเชิงรุก รณรงค์ให้สังคมสร้างกลไกที่เป็นมิตรต่อผู้เสียหาย ให้ได้รับความเป็นธรรม และเยียวยาตามหลักสิทธิมนุษย์ชน เนื่องจากปัญหาภายในครอบครัวถือเป็นต้นเหตุหนึ่งก่อนนำไปสู่ปัญหาสังคม และเศรษฐกิจ

ณัฐวุฒิ บัวประทุม

ณัฐวุฒิ บัวประทุม

ณัฐวุฒิ บัวประทุม


พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ จะครอบคลุมการปกป้องเหยื่อ เช่น การออกคำสั่งคุ้มครองเหยื่อชั่วคราว, ให้คดีความรุนแรงในครอบครัวเป็นคดีอาญา และการพิจารณาโทษเป็นกรณีพิเศษ ในคดีที่เหยื่อพลั้งฆ่าสามีเพื่อป้องกันตัวหรือไม่ได้ตั้งใจ ขณะที่บุคคลทั่วไป หากพบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว สามารถโทรแจ้งสายด่วน 1300

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ณัฐวุฒิ - จุติ" อภิปรายนโยบายสิทธิคนชายขอบ

BTS ส่งเคมเปญ #EndViolence ชวนยุติความรุนแรงต่อเด็ก

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง