ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป "พล.อ.ประยุทธ์" บรรจุญัตติใน ส.ค.นี้

การเมือง
16 ส.ค. 62
10:41
855
Logo Thai PBS
ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป "พล.อ.ประยุทธ์" บรรจุญัตติใน ส.ค.นี้
ฝ่ายค้านยื่นประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปนายกรัฐมนตรี กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน - นโยบายไม่ระบุแหล่งที่มารายได้ สุ่มเสี่ยงทำให้การบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมาเป็นโมฆะ

วันนี้ (16 ส.ค. 2562)  นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับเรื่องนำส่งให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ดูแลเรื่องญัตติตรวจสอบความถูกต้องก่อนบรรจุญัตติ เพราะการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติก็ได้ เป็นเรื่องใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 อีกทั้งข้อบังคับการประชุม ส.ส.ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้เอาไว้ แต่ก็จะอนุโลมใช้ข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปก่อน เพื่อพิจารณาความถูกต้องของญัตติ หากพบข้อผิดปกติก็จะต้องแจ้งกลับไปยังผู้เสนอญัตติภายใน 7 วัน เมื่อมีการแก้ไขหรือตรวจสอบถูกต้องแล้วก็จะบรรจุเป็นเรื่องด่วน โดยแจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ

 

เมื่อตรวจสอบมีความถูกต้องแล้วก็สามารถบรรจุเป็นเรื่องด่วนได้ ไม่เกี่ยวข้องว่าต้องรอการพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นก่อน เพราะสามารถเลื่อนขึ้นมาพิจารณาได้ก่อน โดยขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม โดยคาดว่าจะสามารถบรรจุญัตติได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

ส่วนสภาพบังคับต่อนายกรัฐมนตรีนั้น เมื่อแจ้งต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ทางสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถบรรจุญัตติเป็นเรื่องด่วนได้ โดยไม่ต้องรอความพร้อมจากทางคณะรัฐมนตรี และอยูที่รัฐบาลพิจารราตัดสินใจว่านายกรัฐมนตรีจะมาชี้แจงด้วยตนเองหรือส่งผู้แทนมาชี้แจง แต่โดยส่วนตัวก็เคยให้ความเห็นไปแล้วว่าควรมาตอบกระทู้ถามสด หากไม่มาตอบก็ต้องแจ้งเหตุผลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150 ที่ผ่านมาก็มีการแจ้งเหตุผลแล้ว แต่ไม่มีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร และขั้นตอนดำเนินการจะเป็นไปตามกระบวนปกติ

ฝ่ายค้านพอใจบรรจุญัตติใน ส.ค.นี้-ย้ำไม่มีเจตนาล้มรัฐบาล

ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน ยอมรับเป็นเรื่องที่น่าพอใจหากบรรจุญัตติได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อความชัดเจนกับกรณีสถานะรัฐบาลให้แล้วเสร็จก่อนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการประชุม ครม.

ชี้แจงว่าญัตติที่ยื่นสืบเนื่องมาจากการถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ  และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่ไม่ได้แสดงแหล่งที่มางบประมาณเพื่อดำเนินนโยบายให้ชัดเจน โดยทั้ง 2 ประเด็นอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจะเป็นปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเอง หากปล่อยไว้จะเกิดผลเสียต่อประเทศและประชาชน เพราะรัฐบาลไม่สมบูรณ์ สุ่มเสี่ยงให้การแถลงนโยบายและมติ ครม.เป็นโมฆะและเห็นว่าการเปิดอภิปรายทั่วไปจะเป็นทางออกหนึ่งตามกระบวนการฝ่ายนิติบัญญัตติ

โดยพร้อมที่จะรับฟังคำชี้แจงจากรัฐบาล หากมีความชัดเจนว่า เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือมีความจำเป็นที่ยอมรับได้ก็คงไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการต่อ แต่หากฟังคำชี้แจงแล้วเหตุผลรับฟังไม่ได้หรือมีความจงใจ ก็เป็นความจำเป็นที่ฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เช่น การยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือศาลรัฐธรรมนูญ จนไปถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ แต่ระหว่างนี้หากมีการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงชัดเจน และสามารถเดินหน้าบริหารบ้านเมืองได้อย่างมั่นใจ ฝ่ายค้านก็ไม่ติดใจ เพราะไม่ได้มีเจตนาจะล้มรัฐบาล และยินดีถอนญัตติหากรัฐบาลดำเนินการให้สังคมคลายข้อกังวลได้

และหากนายกรัฐมนตรีไม่มาตอบการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้อีก ถ้าเทียบเคียงกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากญัตติระบุอภิปรายผู้ใดบุคคลผู้นั้นต้องมาตอบ เช่นเดียวกับกระทู้ถามสด หากไม่มาชี้แจงก็ต้องระบุเหตุผลความจำเป็น ซึ่งการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญเป็นการซักถามและเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ดังนั้นหากนายกรัฐมนตรีจะไม่มาชี้แจงหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นมาชี้แจงแทน ก็ต้องเป็นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อแจ้งเหตุผล ซึ่งการชี้แจงแหล่งที่มางบประมาณในการดำเนินนโยบายอาจมอบหมายให้คนอื่นมาชี้แจงได้

แต่การถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง จึงไม่มีเหตุผลที่จะมอบหมายให้คนอื่นมาชี้แจงแทน แต่สุดท้ายหากมอบหมายให้บุคคลอื่นมาชี้แจงแทน ก็ต้องพิจารณาว่าจงใจปฏิบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรืออาจขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งจะกระทบต่อคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี หรืออาจยื่นฟ้องโดยตรงก็สามารถทำได้

นายสุทิน ยังย้ำว่าเนื้อหาสาระของการเปิดอภิปรายครั้งนี้ ไม่ได้ถึงขั้นนำไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะผลกระทบไม่ได้กว้างขวางมาก ไม่ได้มีการทุจริต แต่มองถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับบ้านเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง