"ยามีล” ลูกพะยูนตายแล้วช็อก-หัวใจหยุดเต้นหลังดูแล 53 วัน

สิ่งแวดล้อม
22 ส.ค. 62
22:17
7,576
Logo Thai PBS
 "ยามีล” ลูกพะยูนตายแล้วช็อก-หัวใจหยุดเต้นหลังดูแล 53 วัน
สุดยื้อชีวิต "ยามีล" ลูกพะยูนอายุ 3 เดือนที่ได้รับพระราชทานชื่อว่า "ยามีล" หรือชายรูปงามแห่งท้องทะเล ถูกพบเกยตื้นและนำมาอนุบาลที่ศูนย์วิจัย ทช.ภูเก็ต 53 วันตายแล้ว สาเหตุจากอาการลำไส้อักเสบ ติดเชื้อ นำตัวส่งผ่าตัดด่วน แต่เกิดอาการช็อกตายเมื่อเวลา 21.43 น.

ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมความน่ารักของ “ยามีล” ลูกพะยูนอายุ 3 เดือนถูกพบเกยตื้นที่ชาดหาดบ่อม่วง จ.กระบี่ และเป็นลูกพะยูนตัวที่ 2 หลังจากมาเรียม เคยเกยตื้น สัตวแพทย์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รับตัวมาดูแลในบ่ออนุบาลที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต ถือเป็นลูกพะยูนที่เกยตื้นและมีชีวิตรอดและอยู่ในความดูแลของคนรวม 53 วัน

1 ก.ค.62 ชาวบ้านพบลูกพะยูนเกยตื้น บริเวณชายหาดบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ พบเป็นลูกพะยูนตัวผู้ อายุประมาณ 1 เดือน มีความยาว 111 ซม. รอบตัว 66 ซม. น้ำหนักประมาณ 25 กก. สภาพอ่อนแรงและอิดโรยมาก มีบาดแผลบริเวณแผ่นหลัง 5-6 แผล

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)

2 ก.ค. 62 เจ้าหน้าที่นำลูกพะยูนมารักษาที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จ.ภูเก็ต การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นลูกพะยูนตัวผู้ อายุเพียง 3 เดือน อัตราการเต้นหัวใจ 67 ครั้งต่อนาที อัตราการหายใจ 4 ครั้งต่อ 5 นาที สภาพอ่อนแรงและอิดโรยมาก ตามตัวมีบาดแผลร้อยละ 50 โดยป้อนนมไปแล้ว 100 ซีซี และน้ำ 200 ซีซี เป็นบาดแผลร่องรอยขีดข่วน สภาพร่างกายยังคงแข็งแรง

5 ก.ค.62 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุดที่ จ.กระบี่ว่า "ยามีล" ซึ่งมีความหมายในภาษายาวีว่า "ชายรูปงามแห่งท้องทะเล" และทรงรับลูกพะยูนทั้ง 2 ตัวไว้ในโครงการ

 

8 ก.ค.62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ แวะเยี่ยมและให้นมยามีล ลูกพะยูนที่เข้ามาเกยตื้น ซึ่งอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับกองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

19 ก.ค.62 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เกาะลิบง เยี่ยมมาเรียม พร้อมทั้งเตรียมให้ติดแท็กและฝังชิปพะยูนเพื่อสามารถติดตามถิ่นอาศัยและพฤติกรรมการหากิน

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

29 ก.ค.62 ศูนย์วิจัย ทช.รายงานว่า ยามีล มีน้ำหนัก 27 กิโลกรัม ความยาว 112 เซนติเมตร ความยาวรอบตัว 71 เซนติเมตร กินนม 1,590 มิลลิลิตร กินหญ้าทะเล 10 กรัม ขับถ่ายปกติ ร่าเริงสดใส แข็งแรง กินอิ่ม นอนหลับดี สัตวแพทย์ช่วยทำแผงหญ้าทะเลเทียมให้หัดกินใต้น้ำ และดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้สามารถติดตามชีวิตยามีล ผ่านระบบกล้อง CCTV ที่กล้องหมายเลข 8 ที่ http://mariumthaidugong.dmcr.go.th/

19 ส.ค.62 ทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัย ทช. ตรวจพบยามีลมีอาการเกร็งท้อง ซึ่งอาการดังกล่าวยังเป็นต่อเนื่อง สัตวแพทย์ให้ยาลดอาการอักเสบ ร่วมกับยากระตุ้นทางเดินอาหาร พร้อมสอดท่อระบายแก๊ส ทำให้ยามีลมีอาการดีขึ้นบ้าง แต่ยามีลก็ยังมีอาการเกร็งท้อง ต่อมาได้เอ็กซเรย์พบลำไส้เล็กมีการสะสมของแก๊สจำนวนมาก กระเพาะอาหารมีอาหารอยู่ แต่ไม่มีการเคลื่อนตัว และไม่พบวัตถุแปลกปลอม

 

ยามีลเริ่มป่วย ท้องอืดต้องส่งตัวผ่าตัด 

21 ส.ค.62 ทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน ร่วมกับทีมแพทย์จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ประกอบด้วย แพทย์เด็ก แพทย์ศัลยกรรม วิสัญญีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการ x-ray และทีมสัตวแพทย์ของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวม 12 คน วินิจฉัยอาการโรคของน้องยามีล และแนวทางการรักษา

22 ส.ค.62 ทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน รายงานอาการของน้องยามีล ยังคงมีการสะสมของแก๊สในกระเพาะอาหารและบริเวณลำไส้ มีอัตราการเต้นหัวใจสูง และชักเกร็งเป็นบางครั้ง จึงให้ยาช่วยลดอาการปวดและยาซึม ส่วนผลการ x-ray พบว่าอาหารส่วนที่เป็นของเหลวสามารถเคลื่อนที่ผ่านระบบทางเดินอาหารได้ แนวทางการรักษาจะพยายามนำอาหาร ซึ่งเป็นหญ้าทะเลที่ค้างในกระเพาะออกมา เพื่อลดการหมักหมม และให้สารน้ำและเกลือแร่ผ่านทางท่อให้อาหาร ร่วมกับการใช้ยาปฎิชีวนะ สถานะยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

22 ส.ค.62 เวลา 17.00 น. ศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน ร่วมกับทีมแพทย์โรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต นำตัวน้องยามีล ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลวิชระ ภูเก็ต เพื่อผ่าตัดโดยใช้กล้อง Endoscope นำก้อนหญ้าทะเลที่อัดแน่นในบริเวณกระเพาะอาหารออก โดยการอัดแน่นของหญ้าทะเล เกิดจากสภาวะลำไส้หยุดทำงาน ซึ่งพบได้ในเด็ก (คน) เป็นอาการที่ลำไส้ไม่มีการเคลื่อนตัว ทำให้อาหารในระบบทางเดินอาหารไม่เคลื่อนที่ เป็นสาเหตุให้เกิดการสะสมและเกิดการสร้างแก๊สขึ้นในระบบทางเดินอาหาร โดยแก๊สที่เกิดขึ้นทำให้ผนังลำไส้บางลง เกิดการแตกของเส้นเลือดฝอยและเกิดภาวะการติดเชื้อตามมา นอกจากนี้แก๊สที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปดันบริเวณปอดทำให้เกิดการหายใจติดขัดด้วย

22 ส.ค.62 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ยามีลมีอาการท้องอืด และมีปัญหาที่ลำไส้ และทางสัตวแพทย์ ทช.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูแลอย่างใกล้ชิด และนำตัวส่งไปรักษาโดยใช้เครื่องมือของคนในการรักษา เพราะยามีลยังเทียบกับเด็กอายุ 3 เดือน ทีได้รับรายงานยังทรงๆแต่ทุกคนจะทำให้ดีที่สุด และได้หารือกับผู้เชียวชาญจากอควาเรียมที่เคยรักษาพะยูนในประเทศญี่ปุ่น มาช่วยดูแลและต้องการรักษายามีลให้ได้

สุดยื้อทำซีพีอาร์ช็อก-หัวใจหยุดเต้น

เวลา 20.30 น.ศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน ร่วมกับทีมแพทย์โรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต นำตัวน้องยามีลไปรักษาที่โรงพยาบาลวิชระ ภูเก็ต เพื่อผ่าตัดโดยใช้กล้อง Endoscope นำก้อนหญ้าทะเลที่อัดแน่นในบริเวณกระเพาะอาหารออก ต่อมาเวลา 20.30 น. ผลการทำทีซีสแกนพบการอักเสบของปอด มีกลุ่มก้อนหญ้าทะเลในบริเวณกระเพาะ จึงสอดท่อกล้องตรวจภายในและฉีดน้ำสลายการเกาะแน่นของหญ้าทะเล จากนั้นจึงเริ่มดูดออกได้ร้อยละ 30 ทั้งนี้จะทยอยล้างออกเพิ่มในวันต่อไป โดยใช้เวลาการทำหัตถการรวม 1.5 ชั่วโมง จากนั้นจึงขนย้ายน้องยามีลกลับมาพักฟื้นยังบ่ออนุบาลของศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน น้องยามีลมีอัตราการเต้นหัวใจที่ต่ำ ยังต้องเฝ้าระวังสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด

ต่อมาเวลา 21.43 น.หลังจากนำน้องยามีล เข้ารับการรักษาด้วยการสลายก้อนหญ้าที่อุดตันในกระเพาะอาหารและลำไส้จากโรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต กลับมาถึงบ่ออนุบาลที่ศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน น้องยามีลมีภาวะช๊อก หัวใจหยุดเต้น ทีมแพทย์เร่งช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR แต่ไม่สามารถช่วยน้องกลับมาได้ น้องยามีลจากพวกเราไปแล้ว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่ง "ยามีล" ผ่าตัดด่วน เอาก้อนหญ้าที่อุดตันในกระเพาะออก

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานชื่อพะยูนกระบี่ "ยามีล"

นายกฯ ป้อนนมลูกพะยูน "ยามีล" ระหว่างตรวจราชการที่ภูเก็ต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง