สทนช.ชี้ระดับน้ำโขงต่ำกว่าน้ำเมืองอุบลฯ 10 ม. ไม่เป็นอุปสรรคระบายน้ำ

ภูมิภาค
16 ก.ย. 62
15:30
446
Logo Thai PBS
สทนช.ชี้ระดับน้ำโขงต่ำกว่าน้ำเมืองอุบลฯ 10 ม. ไม่เป็นอุปสรรคระบายน้ำ
สทนช.ชี้ระดับน้ำโขงยังต่ำกว่าตลิ่ง การเร่งระบายน้ำน้ำมูล จ.อุบลฯ ทำได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังย้ำจุดเฝ้าระวังน้ำไหลย้อนของแม่น้ำมูลตามลำน้ำสาขาฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จ.อุบลราชธานี พร้อมประเมินมวลน้ำคงค้าง จ.อุบลฯ 2,500 ล้าน ลบ.ม.

วันนี้ (16 ก.ย.2562) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ประชุมร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในภาคอีสาน และประเมินแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน โดยแจ้งสถานการณ์น้ำในภาพรวมว่า ระดับน้ำจากต้นน้ำทั้งแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลลดลงขณะเดียวกัน ระดับน้ำมูลในแม่น้ำมูลที่อุบลราชธานีก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ สทนช.ได้เสนอแนวทางระยะสั้นและเร่งด่วนต่อที่ประชุม 4 แนวทางหลัก คือ

เสนอ 4 แนวทางแก้ปัญหา

 

1.การเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีการไหลย้อนของแม่น้ำมูลตามลำน้ำสาขาฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก แม้ว่าขณะนี้ระดับน้ำจะลดลงแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนยังมีโอกาสรับฝนจากร่องมรสุมและพายุที่ผ่านพื้นที่ จึงยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เหล่านี้ ฝั่งตะวันตกมีการไหลย้อนตามลำน้ำสาขามูลน้อยและห้วยแจระแม ท่วมสูงกว่าระดับอ่างห้วยแจระแมประมาณ 2 เมตร

ดังนั้น พื้นที่เฝ้าระวังในบริเวณนี้คือ พื้นที่ขอบอ่างห้วยแจะแม ถนนบายพาสฝั่งตะวันออก ถนนแจ้งสนิทที่ตัดห้วยแจระแม สวนสัตว์อุบลราชธานี บ้านเรือนชุมชนตามริมขอบลำน้ำมูลน้อยและห้วยแจระแม เป็นต้น

ส่วนในฝั่งตะวันออก น้ำมูลไหลย้อนตามลำน้ำห้วยวังนองและท่วมล้นคันทำนบดินอ่างห้วยวงนองประมาณ 20 ซม. ทำให้ทางสัญจรรถเล็กผ่านไม่ได้ พื้นที่เฝ้าระวังในบริเวณชุมชนรอบอ่างห้วยวังนอง ร่องน้ำห้วยที่เชื่อมห้วยวังนองกับสนามบิน และโรงพยายาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ด้วย

2.การติดตามข้อมูลฝน นอกเหนือจากการติดตามฝนที่สถานีในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ควรติดตามเป็นกลุ่มพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำที่ไหลลงมูลล่างและในพื้นที่มูลล่าง และเฝ้าระวังในกรณีร่องมรสุมที่ตกแช่ในในพื้นที่หลายวันและพื้นที่ฝนตกเป็นพื้นที่กว้างขวาง และในกรณีพายุพัดผ่าน

3.การแปลระดับน้ำมูลที่ M.7 กับขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมถึง และทิศทางของพื้นที่น้ำท่วมตามการคาดการณ์ระดับน้ำ เพื่อใช้ในการเตือนภัย การเตรียมความพร้อมการอพยพประชาชน โดยสทนช.ได้ใช้ข้อมูลแผนที่เส้นชั้นความสูงทุกระยะ 2 เมตรของกรมพัฒนาที่ดินมาสร้างเสนชั้นความสูงทุกระยะ 1 เมตร จากระดับขอบตลิ่ง 112 ม.(ระดับน้ำทะเลปานกลาง) ไปจนถึงระดับ 118 ม.(ระดับน้ำทะเลปานกลาง) ที่ครอบคลุมระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี พ.ศ.2521 โดยได้มอบแผนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในที่ประชุมเพื่อประโยชน์ในการใช้งาน เช่น ปภ. กรมชลประทาน ตำรวจ เป็นต้น

4.การเร่งพร่องน้ำในแม่น้ำมูล เพื่อลดระดับน้ำในแม่นำมูลให้ลดลงต่ำ เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกในช่วง กย-ตค โดยการลดน้ำหลากจากตอนบน เร่งระบายน้ำท้ายน้ำ


สำหรับแนวทางระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวหลังผ่านอุทกภัยแล้ว เป็นแนวทางการซ่อมแซมอาคารคันกั้นน้ำที่ชำรุด การติดตั้งสถานีวัดน้ำเพิ่มเติมในลำมูลมูลและสาขาที่จะช่วยให้เฝ้าระวังและคาดการณ์ เช่น ปริมาณน้ำหลากเข้าพื้นที่ ตามลำน้ำสาขา และการระบายน้ำผ่านแก่งสะพือ การตัดยอดน้ำหลากจากแม่น้ำชีโดยการผันน้ำชี-มูล เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่ง สทนช.จะศึกษาเป็นแผนพัฒนาลุ่มน้ำชีล่าง-มูลล่างในปี พ.ศ.2563 โดยเร่งด่วนด้วย

ติดตามระดับน้ำ

นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สถานการณ์น้ำแม่น้ำมูลขณะนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สทนช.ได้ติดตามระดับน้ำปัจจุบันและคาดการณ์แนวโน้ม 3 วันข้างหน้า พบว่า แม่น้ำมูล สถานี M.5 อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ. เวลา 14.00 น. ระดับน้ำ 8.28 ม.สูงกว่าตลิ่ง 0.18 ม. แนวโน้มจะลดลง 5 – 7 ซม. สถานี M.182 อ.กัณทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เวลา 14.00 น. ระดับน้ำ 10.68 ม. สูงกว่าตลิ่ง 0.08 ม. แนวโน้มลดลง 15 – 20 ซม. สถานี E.98 อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เวลา 14.00 น. ระดับน้ำ 11.59 ม. สูงกว่าตลิ่ง 1.59 ม. สถานี M.7 อ.วารินชำราบ จ. อุบลฯ 14.00 น. ระดับน้ำ 10.71 ม. สูงกว่าตลิ่ง 3.71 ม.อัตราการไหล 4,875 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มลดลง 30 – 40 ซม.

 

มวลน้ำคงเหลือ 2,500 ล้าน ลบ.

ทิศทางระดับแม่น้ำมูลขณะนี้อยู่ในช่วงขาลง จากปัจจัยหลักที่มีการจัดจราจรน้ำทั้งในแม่น้ำมูลตอนบนและแม่น้ำชี รวมถึงการเร่งผลักดันน้ำ สูบน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลัก เพื่อผลักดันมวลน้ำที่คงค้างในพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำทยอยไหลลงแม่น้ำโขง

คาดว่ายอดมวลน้ำปัจจุบันคงเหลืออยู่ประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ม.ทั้งนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเมื่อเทียบกับระดับน้ำที่ อ.วารินชำราบ ต่ำกว่าประมาณ 14 ม.ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำจากแม่น้ำมูลลงโขง

นายสมเกียรติ คาดว่า ระดับน้ำแม่น้ำมูลจะใช้เวลาลดลงอีกประมาณ 20 - 25 วัน ระดับน้ำจะเท่ากับตลิ่ง ที่สถานี M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังระดับน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม สทนช.จะติดตามประเมินสภาพอากาศและฝนที่อาจจะตกลงมาเพิ่มในช่วงนี้อย่างใกล้ชิดด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง