ยธ.ยกเลิกสัญญา "กำไล EM" ปรับเอกชน 83 ล้านบาท

อาชญากรรม
20 ก.ย. 62
13:37
2,815
Logo Thai PBS
ยธ.ยกเลิกสัญญา "กำไล EM" ปรับเอกชน 83 ล้านบาท
กระทรวงยุติธรรม ยกเลิกสัญญากำไล EM สั่งปรับบริษัทให้เช่ากว่า 80 ล้านบาท ภายใน 15 วัน เตรียมให้ศาลพิจารณาแนวทางดำเนินการกับผู้ถูกคุมประพฤติที่ใส่กำไล EM

วันนี้ (20 ก.ย.2562) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ กำไล EM ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นไปตามสัญญาที่ตกลง ที่ทำสัญญาเช่าไว้กับบริษัท สุพรีม ดีสทิบิวชั่น ไทยแลนด์ จำกัด ว่า กรมคุมประพฤติได้ดำเนินการยกเลิกสัญญากับบริษัทดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกสัญญา โดยมีหนังสือทวงถามบริษัทให้ชำระหนี้ค่าเสียหายจำนวน 83,825,810 บาท ประกอบด้วย

  • การส่งมอบอุปกรณ์ติดตั้ง ล่าช้าเป็นเงิน 1.7 ล้านบาท
  • การไม่นำอุปกรณ์มาเปลี่ยนให้ใหม่ ภายในเวลาที่กำหนด 26 วัน จากจำนวนอีเอ็ม ทั้งหมด 4,000 เครื่อง ค่าปรับเครื่องละ 500 บาทต่อวัน คิดเป็นเงิน 52 ล้านบาท
  • ค่าเสียหายจากการไม่มาปฎิบัติงานของพนักงานประจำศูนย์อีเอ็ม 2 คน เป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงิน 22,500 บาท
  • ค่าเสียหายหลังการบอกยกเลิกสัญญา ทำให้กรมคุมประพฤติไม่สามารถใช้งบประมาณ ประจำปี 2561 จำนวน 21.6 ล้านบาท และไม่สามารถนำงบประมาณ ประจำปี 2562 มาใช้ได้อีก 8.8 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 29.7 ล้านบาท

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากพบความบกพร่องได้ดำเนินการทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทและติดตามผลตลอด และ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา กรมคุมประพฤติทำหนังสือแจ้งค่าเสียหายไปยังบริษัท กำหนดเวลาในการชำระค่าเสียหาย ภายใน 15 วัน หากไม่ชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด จะดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อศาลให้พิจารณา 

ส่วนของผู้ที่ถูกคุมประพฤติให้ใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วจะดำเนินการให้กรมคุมประพฤติแจ้งไปยังศาลแต่ละจังหวัดเพื่อขอยกเลิกใช้กำไล Em ทั้งหมด และให้ผู้ที่ถูกคุมประพฤติอยู่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลว่าศาลจะมีดุลพินิจอย่างไร ซึ่งศาลจะมีแนวทางการคุมประพฤติทั้งการเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ การบำเพ็ญประโยชน์ หรือแนวทางอื่น แต่จะไม่ส่งกลับเข้าไปคุมขังภายในเรือนจำ เนื่องจากจำนวนผู้ถูกคุมขังมีล้นเกินกว่าที่เรือนจำจะรับได้

ผลสอบ "กำไล EM" ไร้ประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และรายงานผลการตรวจสอบมายังกระทรวงฯ ดังนี้

  • อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) สามารถถอดออกจากข้อมือได้โดยไม่ต้องใช้การตัดสายรัดหรืออุปกรณ์ในการถอด และสามารถสวมใส่กลับเข้าไปได้นั้นเป็นความจริง
  • มีผู้ถูกคุมความประพฤติที่สวมใส่อุปกรณ์กำไลอีเอ็ม หลายรายเกิดอาการแพ้ โดยบางรายเกิดผื่นสีแดงขึ้นบริเวณข้อมือ หรือมีผิวหนังแห้งบริเวณข้อมือ หรือมีแผลติดเชื้อบริเวณข้อมือ ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (TOR) ข้อ 4.1.1ระบุว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือหรือจากผู้ผลิตว่า เมื่อสวมใส่แล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้สวมใส่ได้โดยง่าย
  • กำไลอีเอ็ม มีการแจ้งเตือนบ่อยครั้ง และอาจจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสัญญาณแจ้งเตือนและประสิทธิภาพของอุปกรณ์ จากการตรวจสอบข้อมูลสถิติจากศูนย์ควบคุมการติดตามตัวผู้กระทำความผิดในงานคุมประพฤติด้วยอุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการนี้เมื่อ 1 ม.ค.ถึงปัจจุบัน พบว่า มีผู้ถูกคุมประพฤติที่เข้ารับการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวในแต่ละเดือนอยู่ที่ 200-300 คน แต่มีการแจ้งเตือนว่าอุปกรณ์ถูกทำลายสูงกว่า 1,000-100,000 ครั้งต่อเดือน หรือ ไม่มีสัญญาณสูงกว่า 20,000-170,000 ครั้งต่อเดือน 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผลสอบ 3 ข้อ "กำไล EM" ไร้ประสิทธิภาพจริง

สอบสเปก "กำไลอีเอ็ม" ถอดออกเองได้-ไร้สัญญาณเตือน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง