นับ 1 อีกครั้ง! ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่

สังคม
25 ก.ย. 62
16:43
1,998
Logo Thai PBS
นับ 1 อีกครั้ง! ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่
ถกเดือดตั้งแต่ยังไม่เริ่มกลุ่มย่อย "เวทีรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ..." หลัง กอปศ.หมดวาระเมื่อ พ.ค.62 "คุณหญิงกัลยา" รมช.ศธ. ระบุ ไว้ใจสภาการศึกษา ส่งมาแบบไหน กระทรวงเสนอต่อตามนั้น หวังบังคับใช้ให้ทันภายในปีนี้

วันนี้ (25 ก.ย.2562) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเวทีรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... เชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง องค์กร สมาคม ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริการองค์กรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงภาคประชาชนรวม 800 คน ร่วมให้ความเห็น

แม้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว จะผ่านการรับฟังความเห็นส่วนต่าง ๆ มาแล้วรอบใหญ่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 77 ว่า "ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และเป็นระบบ" แต่หลังผ่านช่วงเวลาการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่มา 2 ปีเต็ม โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ให้ทำหน้าที่ศึกษา จัดทำข้อเสนอ และยกร่างกฎหมายที่จำเป็นต่อการปฏิรูปการศึกษา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ฉบับสมบูรณ์ จึงถูกส่งให้ ครม.ประยุทธ์ 1 พิจารณา ตั้งแต่เดือน พ.ย.2561

"ทางวิบาก" กฎหมายการศึกษาชาติ

กระบวนการพิจารณาในชั้นคณะรัฐมนตรี มีแรงต้านจากกลุ่มครูและผู้บริหาร เช่น เรื่องเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่ง "ผอ." เป็น "ครูใหญ่" และตัดเรื่องใบประกอบวิชาชีพ เป็น "ใบรับรองความเป็นครู" กอปศ.จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลให้ร่างกฎหมายการศึกษาชาติฉบับนี้ ถูกชะลอไว้ให้พิจารณาในรัฐบาลต่อไป

การเปิดเวทีรับฟังความเห็นโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะฝ่ายเลขานุการ หลังจาก กอปศ.หมดวาระตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 จึงถือเป็นการนับ 1 อีกครั้ง เพื่อเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในวันที่ร่างกฎหมายอยู่ในมือคณะกรรมการกฤษฎีกา ภายใต้รัฐบาลใหม่ แต่มีผู้นำคนเดิม

เมื่อร่างกฎหมายเดิม มีทั้งผู้เห็นด้วย และเห็นต่าง โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพ ทำให้เวทีวันนี้ ที่แบ่งห้องย่อยเป็น 4 เวที ได้รับความสนใจไม่เท่ากัน


โดยพบว่า "ห้องครูและบุคลากรทางการศึกษา" มีผู้สนใจมากที่สุด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเสริมเก้าอี้ถึงหน้าประตู มีการแสดงความเห็นกันคึกคัก ทำให้ผู้กำกับเวทีต้องควบคุมเวที  ขณะที่อีก 3 ห้อง คือ ผู้เรียน ภาคประชาชน และนักวิชาการ มีผู้เข้าร่วมบางตา


คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานเปิดเวทีแทน รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ยกหน้าที่ให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รวบรวมความเห็นต่าง พร้อมยืนยันว่า "ส่งรายละเอียดมาแบบไหน กระทรวงศึกษาธิการก็จะเสนอต่อไปตามนั้น" หวังให้เสร็จสมบูรณ์และบังคับใช้ได้ทันปีนี้

ด้าน เลขาธิการสภาการศึกษา ยังไม่ยืนยัน เนื่องจากความเห็นในเวทียังหลากหลาย คาดว่าต้องต่อเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ในการเปิดเวทีรับฟังเพิ่มเติมอย่างน้อย 1 ครั้งในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ ส่วนสาระสำคัญ จะถูกปรับแก้ในทิศทางที่ตรงใจทุกฝ่ายหรือไม่ ขึ้นกับคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาในขั้นตอนต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายการศึกษาจวกนโยบายกว้าง "ไปไม่สุด"

ส่องนโยบายพรรคการเมือง "การศึกษา" 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง