ชงเปิด "ทางช้างผ่าน" ย้ายจุดจอดรถท่องเที่ยวน้ำตกเหวนรก

สิ่งแวดล้อม
30 ต.ค. 62
13:35
1,507
Logo Thai PBS
ชงเปิด "ทางช้างผ่าน" ย้ายจุดจอดรถท่องเที่ยวน้ำตกเหวนรก
นักวิชาการด้านช้าง ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำตกเหวนรก ล้อมคอกปัญหาช้างตกเหวนรกตายซ้ำ ระบุควรย้ายจุดจอดรถ ร้านค้าน้ำตกเหวนรก ที่เคยเป็นเส้นทางช้างผ่าน เพื่อลดนักท่องเที่ยวเข้าถึงง่ายและรบกวนช้างที่ต้องเดินใกล้น้ำตกเหวนรก คาด 6 พ.ย.นี้เคาะแผน

วันนี้ (30 ต.ค.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ รศ.รองลาภ สุขมาสรวง หัวหน้าภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจบริเวณน้ำตกเหวนรก หลังเกิดเหตุการณ์ช้างตกน้ำตกตาย 11 ตัว พบว่าแนวเพนียดเดิมมีความยาวครอบคลุมตั้งแต่บริเวณที่ช้างตกน้ำตกตาย ด้านบนหน้าผา และจากตรงนั้นไป แนวจะข้ามฝั่งลำห้วยคลองท่าด่าน และขึ้นมาอีกฝั่ง ยาวตามลำห้วยประมาณ 100 เมตรเพื่อรับกับเนินหน้าผา เพราะปกติโดยธรรมชาติช้างจะไม่เดินไปทางหน้าผา 

นายรองลาภ กล่าวว่า ถ้าหันหน้าตามน้ำตกเหวนรกทางขวามือจะมีแนวรั้วเพนียดเดิม และตัดผ่านลำห้วยที่มีระดับน้ำสูงในช่วงหน้าฝนและข้ามมาทางด้านซ้ายของฝั่ง ตรงศาลาแปดเหลี่ยมและขึ้นไปทางสันเขา ตอนนี้เพนียดมีความยาวประมาณ 300-400 เมตร และมีเสาเพนียดต้นใหญ่ 250 ต้น มีเส้นผ่าศูนยืกลาง 1 เมตร และระยะห่าง 1 เมตร

ข้อเสนอต้องทำเพนียดเพิ่มเพียง 50 เมตร หรือเพียด 50 ต้น เสริมความแข็งแรงจนใกล้กับแนวหน้าผา บริเวณจุดชมวิวของน้ำตกเหวนรก ชั้นที่ 2 โดยแนวเพนียดเดิมมีความสูงราว 70 เมตร และเพิ่มชั้นที่ 2 สูงประมาณ 150 เมตร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง  เธอจะน่ารักหรือจะร้าย รู้จัก "ช้างป่า" เขาใหญ่ ให้มากขึ้น

ไม่ควรทำสะพานข้าม-ห่วงกระทบ สวล.

นายรองลาภ กล่าวอีกว่า ส่วนในลำห้วย ที่เกิดปัญหาช้าง และสัตว์ป่าอื่นๆเดินตกลงไปตาย เพนียดแบบเดิมน้ำอาจพัดไปได้ การออกแบบต้องทำแท่งหินที่ช้างเดินลอดออกไปไม่ได้ ซึ่งได้หารือเบื้องต้นกับนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ และนายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แล้ว พร้อมกับออกแบบทางวิศวกรรม นอกจากนี้อาจจะมีการใช้เพียงก้อนหินขนาดใหญ่ทิ้งที่ริมน้ำเว้นระยะๆ ให้น้ำลอดแต่ช้างรอดไม่ได้ ซึ่งจะกันช้างตกได้ 100%

ส่วนสะพานช้างข้าม จากการสำรวจแล้ว ส่วนตัวมองว่าไม่ควรสร้าง เพราะช้างมีทางข้ามหลายจุดไม่ใช่แค่ไปมาบริเวณนี้ เพราะยังมีทางราบ และสะพานรถยนต์ที่ถนนหลวงผ่าน จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องทำสะพาน ถ้าทำสะพานข้ามห้วย จะต้องมีขนาดใหญ่มาก และจะส่งผลกระทบกับเขาใหญ่ ทั้งในช่วงการก่อสร้าง และกลายเป็นคนมาใช้ประโยชน์ท่องเที่ยวมากกว่าสัตว์ป่า

แค่แนวรั้วเพนียดที่จะทำขึ้นเพิ่มเติมป้องกันช้างบริเวณลำห้วย เพียงพอแล้ว เพราะมีผลพิสูจน์ว่า ตั้งแต่มีการทำเพียดไว้ 28 ปีก่อนมีการดูแลรักษา แต่หากเพนียดชำรุดก็เสริมให้แข็งแรง

เสนอย้ายจุดจอดรถเหวนรกเปิดทางช้างใช้พื้นที่

นอกจากนี้ นักวิชาการ ยังเสนอให้ปรับปรุงบริเวณจุดจอดรถ ร้านค้า โดยระบุว่าหากคงไว้จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์ป่า ช้างป่า ประวัติของน้ำตกเหวนรก ประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงภูมิศาสตร์ของพื้นที่ แสดงผลงานวิจัยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อกระตุ้นและให้คนช่วยกันลดผลกระทบจากการท่องเที่ยว ทั้งการใช้เส้นทางการท่องเที่ยวที่มีต่อสัตว์ป่า รวมทั้งต้องเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความสะอาดในจุดนั้น 

ไม่ใช่แค่ช้างเดินตกน้ำตก แต่ยังมีกวาง เก้ง เป็นพื้นที่เสี่ยง ควรต้องลดความเสี่ยง เปิดพื้นที่ที่ช้างเคยใช้เดินไปมาบริเวณที่ทำการน้ำตกเหวนรก และจุดจอดรถ เพราะทำให้คนเข้ามามาก ควรต้องไปจอดริมถนนไกลๆ และเดินเข้ามาเพื่อลดจำนวนคนเข้ามา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง  ไทม์ไลน์ 6 ชีวิตช้างป่าเขาใหญ่พลัดน้ำตกเหวนรก

 

ทั้งนี้ ข้อเสนอให้รื้อต้องทำเร็วที่สุด เพราะหลังจากเกิดเหตุช้างตกน้ำตก ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จัดทีมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพราะป้องกันเหตุซ้ำ นอกจากนี้ยังเสนอว่าให้กำหนดโซนพื้นที่แนวเขตเขาใหญ่อย่างน้อย 2-3 กิโลเมตรต้องควบคุมพืชการเกษตรที่ไม่ดึงดูดให้ช้างป่าออกไป และต้องลดการบุกรุกพื้นที่ เพราะเป็นตัวเร่งให้ช้าง กวาง เก้ง กระทิงออกมาใช้พื้นที่ รวมทั้งการปรับปรุงแหล่งโป่งการหากินของสัตว์ป่าในด้านลึกของป่ามากขึ้น ง

มีช้างบางตัวไปออกลูกในไร่เกษตรของชาวบ้าน และลูกเรียนรู้ว่าพื้นที่เกษตรอยู่ตรงไหน และหากินพืชอาหารป่าไม่เป็น ทำให้มีพฤติกรรมการหากินที่เปลี่ยนไป และไม่กลับเข้าป่า 

ทั้งนี้มีรายงานว่าในวันที่ 6 พ.ย.นี้ นายจงคล้าย พร้อมทีมนักวิชาการ กลุ่มอนุรักษ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมประชุมเรื่องการแก้ปัญหาจุดเสี่ยงช้างตกเขาใหญ่ โดยจะนำแผนที่นักวิชาการสำรวจและข้อมูลทางวิศวกรรมเข้าหารือ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สลด! เจอซากช้างเขาใหญ่ตกเหวนรกเพิ่ม 5 ตัว รวมตาย 11 ตัว

ระทึก! "พี่ดื้อ" ช้างป่าเขาใหญ่คร่อมรถนักท่องเที่ยวหลังคายุบ

10 ข้อปฏิบัติเมื่อเจอ "พี่ดื้อ" ช้างป่าเขาใหญ่และผองเพื่อน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง