"ชาวเกาะหลีเป๊ะ" วอนใช้กลไกอาเซียนแก้ปัญหาขยะทะเล

สิ่งแวดล้อม
30 ต.ค. 62
13:17
990
Logo Thai PBS
"ชาวเกาะหลีเป๊ะ" วอนใช้กลไกอาเซียนแก้ปัญหาขยะทะเล
"กรีนพีซ" พบขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกในเครือร้านสะดวกซื้อ "น้ำอัดลม" มากที่สุด ยื่น 4 ข้อเสนอถึงภาคธุรกิจขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง "ไทยพีบีเอส" สำรวจเกาะหลีเป๊ะ พบขวดพลาสติกจากประเทศเพื่อนบ้าน เกยฝั่ง ชาวบ้านวอนใช้กลไกอาเซียนร่วมแก้ปัญหาขยะทะเล

เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรีนพีซประเทศไทย เปิดเผยรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้า จากบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Brand Audit) ที่เก็บได้บริเวณดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และแหลมสนอ่อน จังหวัดสงขลา เมื่อ ก.ย.2562 พบเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 5 อันดับแรก ที่พบจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุด ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โอสถสภา กลุ่มธุรกิจ TCP (บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด) เสริมสุข และสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ในขณะที่ผู้ผลิตต่างประเทศ คือ โคคา-โคลา เนสท์เล่ อายิโนะโมะโต๊ะ มอนเดลีซ และยูนิลีเวอร์

 


นายอภิศักดิ์ ทัศนี ตัวแทนกลุ่ม Beach for Life ที่เข้าร่วมตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก ระบุว่า กิจกรรมนี้ มีอาสาสมัครและชุมชน เข้าร่วมกว่า 115 คน เก็บรวบรวมขยะพลาสติกได้ทั้งหมด 6,091 ชิ้น โดยเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหาร 5,485 ชิ้น อุปกรณ์สำหรับการสูบบุหรี่ 231 ชิ้น ส่วนประเภทวัสดุที่พบตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ พลาสติกอื่น ๆ 2,729 ชิ้น รองลงมา คือ พอลิเอทิลีน (Polyethylene; PE) ความหนาแน่นสูง (HDPE) 1,016 ชิ้น และ พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate; PET) 986 ชิ้น

กระแสหลักของสังคมส่งผลให้ขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบ แท้ที่จริงเกี่ยวข้องความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เราหวังว่าการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งของตน


กรีนพีซ ยื่น 4 ข้อเสนอ ลดพลาสติกภายในปีนี้

น.ส.พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซประเทศไทย ระบุว่า แม้ผลที่นำเสนอข้างต้น ไม่ได้เป็นตัวแทนของภาพรวมทั้งหมดของการผลิตขยะพลาสติก ที่มาจากผู้ผลิตหรือแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการผลิตและการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกครั้งเดียวทิ้งที่ล้นเกิน และกลายเป็นมลพิษพลาสติก ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม

และมีเพียงร้อยละ 9 ของขยะพลาสติกทั่วโลก ที่ถูกนำไปรีไซเคิล และคาดการณ์ว่า การผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก จะขยายเพิ่มเป็น 2 เท่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า จึงเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้า ลดการพึ่งพาบรรจุภัณฑ์พลาสติก และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับแนวทางปฏิบัติ 4 ประการดังนี้

  1. เปิดเผยข้อมูล "รอยเท้าพลาสติก" (plastic footprint) หรือ ปริมาณพลาสติกที่บริษัทใช้ในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการขนส่งภายในช่วงเวลา 12 เดือนที่มีการระบุไว้ โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้
  2. มุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละปี
  3. ขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็นมากที่สุดภายปี 2562
  4. ลงทุนกับระบบนำกลับมาใช้ซ้ำและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่

เรามีหลักฐานมากขึ้นจากผลการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกว่าบริษัทผู้ผลิตสินค้าจำเป็นต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วนเพื่อกู้วิกฤตมลพิษพลาสติกที่ตนก่อขึ้น ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตสินค้าต้องหยุดการผลิตพลาสติกใช้แล้วทิ้งและหาทางออกที่สร้างสรรค์ซึ่งเน้นระบบทางเลือกในการจัดส่งและกระจายสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ

ความรับผิดชอบอาเซียน หลังพบขวดน้ำพลาสติกรอบเกาะหลีเป๊ะ


ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล พบประชาชนบนเกาะส่วนหนึ่ง กังวลเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเล เนื่องจากในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบขวดพลาสติกน้ำดื่ม ที่มีแบรนด์จากประเทศเพื่อนบ้าน ลอยเกยหาดเป็นจำนวนมาก และบางส่วนที่จมอยู่ใต้ก้นทะเล กระทบต่อการจับปลา ทำให้เครื่องมือเสียหายจากการที่พลาสติกเข้าไปติดอวน

ขนาดเบ็ดตกปลา ดึงขึ้นมายังติดถุง แบบนี้เขาต้องตื่นตัวแล้วว่าของเขาลอยมาถึงไทย ของเราก็อาจจะไปถึงเขาด้วยเหมือนกัน อยากให้แต่ละประเทศรับผิดชอบ เพราะเราอยู่ในทะเลเดียวกัน โลกถึงจะน่าอยู่


ขณะที่การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. นี้ ยังคงเน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสานต่อปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ที่ไทยขอมีบทบาทนำ ต่อการการแก้ไขปัญหาขยะ และขยะทะเล เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จัดการขยะข้ามพรมแดน และการหานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลิกปมข่าว : ยืดอายุขวดพลาสติก กู้วิกฤตขยะทะเล

ศิลปินอินเดียใช้ "ขวดพลาสติก" สร้างศิลปะกระตุ้นสังคม

"โตโน่ - ต๊ะ พิภู" พายเรือเก็บขยะ ช่วยกู้แม่น้ำจากวิกฤต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง