จ่อร้องศาลปกครอง หากยกเลิกมติแบน “ไกลโฟเซต”

สิ่งแวดล้อม
11 ธ.ค. 62
19:25
448
Logo Thai PBS
จ่อร้องศาลปกครอง หากยกเลิกมติแบน “ไกลโฟเซต”
“วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” เตรียมรวมพลังเครือข่ายเกษตรกรและแนวร่วมผู้ได้รับผลกระทบจากสารเคมีเกษตร ร้องศาลปกครอง หากกระทรวงอุตฯ ออกประกาศยกเลิกแบน “ไกลโฟเซต” พร้อมฟ้องคดีแบบกลุ่ม กรณี “ยื้อเวลาแบน 3 สารเคมีเกษตร” สร้างความเสียหายต่อสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

วันนี้ (11 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนเวลาแบนสารเคมีเกษตร พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส ออกไป 6 เดือน และพลิกมติไม่แบน ไกลโฟเซต ส่งผลให้มีการเดินหน้าแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ Change.org รวบรวมรายชื่อสนับสนุนการแบนสารเคมี 3 ชนิด เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขณะที่ฟากฝั่งการเมือง นายกรัฐมนตรีได้ตั้ง นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการจัดการสารเคมีแห่งชาติ

ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ Bio Thai มูลนิธิชีววิถี ได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีปาฐกถา “อนาคตเกษตรกรรมไทย หลังสงครามแบนสารพิษ” เนื่องในโอกาสเปิดตัวสมาคมไทยเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชนบท หรือ ไทยดรา (ThaiDHRRA) ซึ่งจัดขึ้นที่สภาคริสตจักรในประเทศไทย เขตราชเทวี กทม.


สร้างอธิปไตยทางอาหาร แล้วถูกฟ้อง 2 คดี

นายวิฑูรย์ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ทำงาน 35 ปี เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างอธิปไตยทางอาหาร และการเคลื่อนไหวเรียกร้องตลอด 3 ปี ให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ระบุ สงครามแบนสารเคมีเกษตรเพิ่งเริ่ม ณ วันนี้ เขาถูกฟ้องอย่างน้อย 2 คดี จากการเปิดเผยข้อมูลบรรษัทสารเคมีและร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 686 องค์กร

มีการฟ้องร้องจากการเปิดเผยความจริง จากสมาคมแห่งหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากบริษัทที่ผลิตพาราควอต และจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการเสนอให้ยกเลิกการแบนไกลโฟเซตอีก 1 คดี

เตรียมฟ้องคดีแบบกลุ่ม “สร้างความเสียหายต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม”

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า ตลอด 3 ปีมานี้ คนไทยและหลายประเทศทั่วโลก กำลังตื่นตัวกับปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะสารพิษ 3 ชนิด ยกตัวอย่าง สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ภายใต้ WHO กำหนดให้สารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต เป็นสารก่อมะเร็งชั้น 2A แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ยอมแบน ทำให้ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาล มีคดีขึ้นสู่ศาลแล้วมากกว่า 42,700 คดี และศาลได้ตัดสินแล้ว 3 คดี ให้บริษัทต้องชดใช้ค่าเสียหายและค่าปรับมหาศาลต่อโจทก์และรัฐ

แต่เมื่อตัดภาพมาที่ประเทศไทย หลังการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อ 27 พ.ย.2562 ยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียงกับการเลื่อนเวลาแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และพลิกมติไม่แบนไกลโฟเซต เครือข่ายเกษตรกร และแนวร่วมผู้ได้รับผลกระทบจากสารเคมีเกษตร เตรียมร้องศาลปกครอง หากกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศยกเลิกการแบน “ไกลโฟเซต” และยื้อเวลาแบนอีก 2 สาร ออกไป 6 เดือน

ขณะนี้เครือข่ายฯ เตรียมการ 2 เรื่อง คือ เข้าให้ข้อมูลกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้การคุ้มครอง กับฟ้องคดีแบบกลุ่ม กรณีสร้างความเสียหายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการไม่แบน ท่านใดอยากให้เกิดกรณีแบบสหรัฐอเมริกา พวกเราในฐานะที่เป็นองค์กรเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคยินดีดำเนินการแทน


เจตจำนงการเมือง กุญแจปลดพันธนาการ

นายวิฑูรย์ ยังกางข้อมูล ปริมาณการใช้สารเคมีเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เฉพาะประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่ม 2 เท่า แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มตาม โดยอ้างข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผลผลิตต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจสำคัญเมื่อปี 2551 เปรียบเทียบกับปี 2559 ผลผลิตต่อไร่ส่วนใหญ่ลดลง เช่น ยางพาราลดลงจาก 241 กิโลกรัมต่อไร่ เหลือ 224 กิโลกรัมต่อไร่ อ้อยลดลงจาก 11,157 กิโลกรัมต่อไร่ เหลือ 9,152 กิโลกรัมต่อไร่ ปาล์มน้ำมันจาก 3,214 กิโลกรัมต่อไร่ เหลือ 2,409 กิโลกรัมต่อไร่ ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เท่านั้นที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 652 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 654 กิโลกรัมต่อไร่

ในขณะที่ประเทศไทยเลื่อนการแบนออกไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย.2563 อยากเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการชดเชยโดยเร็วที่สุด ถ้าไม่มีมาตรการที่ชัดเจน จะกลายเป็นข้ออ้างในการเลื่อนแบนพาราควอต


เขาเล่าต่อไปว่า สิ่งที่อยากเสนอเป็นเป้าหมายระยะยาว คือ เปลี่ยนเกษตรเชิงเดี่ยว ให้เป็นเกษตรกรรมยั่งยืน 100% ซึ่งเข้าใจว่าต้องให้เวลากระบวนการเปลี่ยนผ่าน เขายกตัวอย่างพื้นที่รูปธรรมที่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ทั้งชุมชน ว่าถ้าเอาจริงก็ทำได้ แต่พันธนาการที่เป็นความยากของการแบนสารเคมีเกษตรในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก มาจากภาระผูกพันเชิงโครงสร้าง ที่มีผู้เล่นหลายระดับเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

อนาคตเกษตรกรรมไทย จึงไม่อาจหวังการแบนแค่ 3 สาร เครือข่ายฯ และนักวิชาการ เห็นว่ายังมี 150 กว่าสาร ใน 256 สาร มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง การเดินหน้าขั้นต้นต้องขยายพื้นที่เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ไปพร้อมกับการยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรให้ได้ โดยต้องมีเจตจำนงทางการเมืองร่วมด้วย

เราสร้างชุมชนเกษตรอินทรีย์ได้ ทำไมจะเกิดตำบล-อำเภอเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ ปัญหาขวากหนามของการแบนมาจากโครงสร้าง ไม่อยากให้โทษเกษตรกร ต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและโครงสร้าง 21 พ.ย.ที่ผ่านมาผู้แทนในสภามีมติเอกฉันท์ 423 ต่อ 0 เสียง สนับสนุนการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ไปแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"อนุทิน" คุมบอร์ดสารเคมีคานอำนาจ คกก.วัตถุอันตราย

กลุ่มหนุนแบนสารเคมีเกษตรยันฟ้องเอาผิด "สุริยะ"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง