ปรับลด-โยกย้ายงบประมาณ 2563

Logo Thai PBS
ปรับลด-โยกย้ายงบประมาณ 2563
อาจเป็นเรื่องปกติ ที่ฝ่ายการเมืองจะตัดงบประมาณของส่วนงานข้าราชการและองค์กรต่างๆ และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ก็เช่นกัน หลายหน่วยงานถูกเสนอตัดทิ้งทั้งหมด นำโดย 2 กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย

งบกลาง 518,770 ล้านบาท ที่ถูกอภิปรายอย่างเข้มข้นในวาระแรกของการประชุมสภา แม้มีข้อสังเกตเรื่องงบฉุกเฉิน 96,000 ล้านบาทในมือนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวม 49 คน ก็ให้ผ่านมาพิจารณาต่อในวาระ 2 และ 3 เช่นเดียวกับภาพรวม 3.2 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเดิม แต่ยังมีกรรมาธิการบางส่วน ขอสงวนคำแปรญัตติ หวังให้ที่ประชุมสภาเห็นด้วยและแก้ไขอีกครั้ง

ย้อนกลับมาทบทวนศัพท์การเมืองในระบบรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งจะได้ยินได้ฟังมากขึ้นในการประชุมสภาเรื่องงบประมาณ เช่น “คำแปรญัตติ” หมายถึง สมาชิกฯ ที่มิได้เป็นกรรมาธิการมีความประสงค์จะขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ ในชั้นคณะกรรมาธิการ จะต้องเสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติมของตน ต้องเสนอหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการฯ ภายใน 7 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการ เว้นแต่สภากำหนดเวลาแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น

“สงวนคำแปรญัตติ” หมายถึง เมื่อคณะกรรมาธิการไม่เห็นด้วยกับคำแปรญัตติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้แปรญัตตินั้น ประสงค์จะนำคำแปรญัตติไปอภิปรายในสภาขั้นพิจารณาเรียงตามลำดับมาตรา

“สงวนความเห็น” หมายถึง กรรมาธิการเสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติมในที่ประชุม แต่คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และกรรมาธิการผู้นั้นประสงค์จะนำข้อแก้ไขเพิ่มเติมของตนไปอภิปรายในสภา

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กรรมาธิการจากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย เสนอขอสงวนคำแปรญัตติในหลายมาตรา หลายงบประมาณ อย่างงบฉุกเฉิน 96,000 ล้านบาท เสนอขอปรับลดลง 56,000 ล้านบาท

ทั้งสองคนยังขอสงวนความเห็น ขอปรับลดลงทั้งหมด 100% เช่นงบกระทรวงกลาโหม 125,000 ล้านบาท, กรมสรรพากร 2,300 ล้านบาท, กระทรวงการต่างประเทศ 5,100 ล้านบาท, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อบต.-เทศบาล 250,000 ล้านบาท, จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 24,000 ล้านบาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ 10,000 ล้านบาท, แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 17,000 ล้านบาท รวมถึงแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ หน่วยงาน ป.ป.ช. 430 ล้านบาท

แม้ในทางปฏิบัติจะเป็นไปไม่ได้ แต่ตามหลักการหากสภาเห็นชอบ งบประมาณดังกล่าวข้างต้นจะถูกตัดออกทั้งหมด ทุกกิจกรรม ทุกโครงการ ภายใต้แผนและงบประมาณนั้นจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

เช่นเดียวกับกรณีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ของกรุงเทพมหานคร ซึ่ง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล กมธ.จากพรรคอนาคตใหม่ สงวนความเห็นปรับลดงบร้อยละ 100 ในโครงการช่วงที่ 1, 3 และ 4 ซึ่ง กมธ.คณะใหญ่ตัดงบในช่วงที่ 2 ไปก่อนแล้ว

ขณะที่ในหลายๆ งบประมาณ รายการที่ถูกตัดเงินออก คือค่าวัสดุ ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าจ้างเหมาบริการ ซึ่งมีเสียงสะท้อนว่าอาจทำให้โครงการต่างๆ เดินหน้าได้ยาก เนื่องจากไม่มีงบจ้างเหมาฯ ผู้รับคำสั่งมอบหมายจากข้าราชการ และนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

ที่ประชุม กมธ.ยังมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยขอรับงบประมาณ เช่น
• ให้สำนักงบประมาณสรุปข้อมูลการเปลี่ยนแปลงในปีงบประมาณก่อน โดยเฉพาะที่หัวหน้าหน่วยงานยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ไปแล้ว
• แก้ไขกฎระเบียบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถขอรับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้
• งบกลุ่มจังหวัด ให้บริหารจัดการร่วมกัน แต่พบลักษณะแบ่งเงินกันไปต่างคนต่างทำ
• งบลงทุน และงบผูกพันควรมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาและสาธารณสุข มากกว่านำไปใช้จัดซื้อครุภัณฑ์
• แก้ปัญหาการขอรับงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศเฉพาะหน่วยงาน ทั้งที่มีโครงการกลางอย่าง Government Data Center and Cloud, GDCC ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.)
• โครงการวิจัยและการจ้างที่ปรึกษา ต้องกลั่นกรองว่าเป็นโครงการต่อเนื่องจริง เพื่อลดการของบซ้ำซ้อน บริหารจัดการครุภัณฑ์ ขาดหลักการใช้งานทางเศรษฐกิจ (Economic Life)
• งบประมาณของ กอ.รมน.แผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง ผ่านกิจกรรม “งานรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” 5,833 ล้านบาท มีรายการค่าใช้จ่าย “การกำลังพลและการดำเนินงาน” 4,195 ล้านบาท ซึ่งผู้แทน กอ.รมน.มาชี้แจงต่อกรรมาธิการว่าเป็นเบี้ยเลี้ยงผู้ปฏิบัติหน้าที่
• การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือใช้งบประมาณสูง ควรจัดซื้อเพื่อความจำเป็นต่อภารกิจ สามารถชี้แจงเหตุผลต่อประชาชนได้

และก่อนที่กฎหมายงบประมาณจะมีผลบังคับใช้ กระจายไปเพื่อขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ สภาจะมีการประชุมพิจารณาเป็นรายมาตราอีกครั้ง ก่อนลงมติเห็นชอบหรือไม่ จากนั้นจะผ่านขั้นตอนทางนิติบัญญัติอีกเล็กน้อย ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อมีผลบังคับใช้ การบริโภคและใช้จ่ายภาครัฐ 1 ใน 4 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะเดินหน้า หลังจากล่าช้ากว่ากำหนดมาหลายเดือน

จตุรงค์ แสงโชติกุล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง