ศูนย์เด็กเล็กวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ร่วมปลูกฝังพฤติกรรมลดอุบัติเหตุจากรุ่นสู่รุ่น

สังคม
18 ม.ค. 63
13:49
944
Logo Thai PBS
ศูนย์เด็กเล็กวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ร่วมปลูกฝังพฤติกรรมลดอุบัติเหตุจากรุ่นสู่รุ่น
ศูนย์เด็กเล็กวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ต้นแบบศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาหลักสูตรปลูกฝังความปลอดภัยทางถนน

การฝึกวินัยจราจรให้เรียนเรียนรู้ถือเป็นวิธีการจะช่วยสร้างพฤติกรรมที่ถุกต้องเหมาะสมในการใช้รถใช้ถนนตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โครงการขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ สู่โรงเรียนความปลอดภัยทางถนนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และนักวิชาการ แผนงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.)

 

โรงเรียนเทศบาล 4 อนุบาลพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จ. อุบลราชธานี ตั้งอยู่ติดกับตลาดสด และถนนเชื่อมเส้นทางสายหลัก ในแต่ละวันมีการสัญจรคับคั่ง ผู้ปกครองส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์ รับ-ส่งนักเรียน คือหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และปัจจุบันสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การขับขี่ที่ปลอดภัยได้อย่างประสบผลสำเร็จ ไม่เฉพาะกับตัวเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ปกครองและชุมชนรอบข้าง ที่ได้หันมาให้ความสำคัญในการเคารพกฎจราจร โดยก่อนเข้าร่วมโครงการทั้งโรงเรียนมีอัตราสวมหมวกนิรภัยเพียง 5% แต่ภายหลังเข้าร่วมโครงการ ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนสวมหมวกนิรภัยเกือบ 100%

"เราสอนเด็กเล็กตามหลักสูตรแกนกลางอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะในกลุ่มสาระการเรียนรู้มีแค่เรื่องปลอดภัยไว้ก่อนและเด็กดีมีวินัย แต่ไม่พูดถึงเรื่องกฎจราจรและความปลอดภัยทางถนน ซึ่งทั้ง 2 สิ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเข้าใจ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะติดตัวเมื่อเติบโตไปในอนาคต" นางพิณผกา แก่นอาษา หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ชี้ถึงความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร และกิจกรรมเรียนรู้ความปลอดภัยทางถนน หนุนเสริมเพิ่มเติมไปกับหลักสูตรปกติ

เธอเล่าว่า สิ่งที่ทำให้โรงเรียนเกิดแรงบันดาลใจ ในการเข้าร่วมโครงการเพราะเด็กนักเรียนเคยประสบอุบัติเหตุหน้าโรงเรียน ประกอบกับในปีการศึกษา 2560 ได้รับการสนับสนุนโดยให้เข้าร่วมโครงการความปลอดภัยทางถนนในศูนย์เด็กเล็ก พร้อมให้งบประมาณพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนของเราเอง โดยสอดแทรกในหลักสูตรสาระการเรียนรู้ความปลอดภัยทางถนน และได้รับแรงเสริมจากพี่เลี้ยงจากราชภัฎอุบลราชธานี เข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ปลูกฝังพฤติกรรมเคารพกฎจราจร

หลังดำเนินการ 1 ปี ปรากฎว่าเด็กๆ เข้าใจการดูแลตนเองให้ปลอดภัยในการโดยสาร อีกทั้งส่งผลต่อไปยังผู้ปกครองด้วย เพราะเมื่อเด็กกลับบ้านได้มีการสื่อสารกับพ่อแม่ ในเรื่องการปฎิบัติตามกฎจราจร ขณะนี้เราจึงพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบ ถ่ายทอดความรู้และส่งนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนไปยังศูนย์เด็กเล็กอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย

 

ครอบครัวจันทร์บัวรี ทุกเช้า คุณแม่สุดาวอน จะเป็นคนขับรถมอเตอร์ไซค์มาส่ง น้องไข่มุก ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ เธอบอกว่า ทุกครั้งก่อนขี่รถออกจากบ้านจะสวมหมวกนิรภัยให้ตัวเองและลูกสาวทุกครั้ง เพราะมองว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ซึ่งหมวกนิรภัยถือเป็นอุปกรณ์นิรภัย ที่สามารถลดการบาดเจ็บได้ หลายครั้งที่เห็นคนขี่มอเตอร์ไซค์ประสบอุบัติเหตุ แต่ไม่ใส่หมวกนิรภัย ส่วนใหญ่บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต จึงรู้สึกกลัว ประกอบกับโรงเรียนมีการสอนและปลูกฝังในเรื่องนี้ ครอบครัวเราจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

"ถามว่าราคาหมวกนิรภัยที่มีตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปนั้น แพงหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าไม่แพงเกินไป หากเทียบกับชีวิตของลูก" สุดาวอน กล่าว

น.ส.กาญจนา ทองทั่ว หัวหน้าโครงการขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่โรงเรียนภาคอีสาน กล่าวว่า ศูนย์เด็กแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นโครงการ ต้นแบบความปลอดภัยทางถนน โดยมีส่วนร่วมจากหน่วยงานส่วนท้องถิ่นและชุมชน เป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้ศูนย์เด็กเล็กเป็นต้นแบบของชุมชน แม้กลุ่มเป้าหมายจะเป็นเด็กแต่เราเน้นปลูกฝังพฤติกรรมที่ถูกต้องได้ โดยในระยะแรกพบว่าประสบความสำเร็จอย่างดี ทั้งในด้านลดพฤติกรรมเสี่ยง ผ่านการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอน โดยผสานจุดเด่นด้านการจัดการเรียนการสอน ออกแบบโดยเชื่อมโยง แผนการเรียนการสอนชุดประสบการณ์ 5 วัน 6 กิจกรรมหลัก ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก และยังส่งต่อไปยังผู้ปกครอง ขณะเดียวกันทางด้านสภาพแวดล้อมก็ได้มีการปรับปรุงจุดเสี่ยงในพื้นที่ด้วย

"ในแง่การมีส่วนร่วมจากหน่วยงานและชุมชน ได้เกิดกิจกรรมบริจาคเพื่อซื้อหมวกนิรภัย เงิน 300 บาท บางครอบครัวถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเหมือนกัน ในการซื้อหมวกนิรภัยให้ลูกน้อย แต่ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ และพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการ ทำให้เด็กๆ มีหมวกนิรภัยใส่” หัวหน้าโครงการภาคอีสานฯ กล่าว

ด้านนายประชา กิจตรงศิริ รองนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี กล่าวเสริมว่า เมื่อได้รับประสานงานจาก สสส. ว่าต้องการเข้ามาดำเนินโครงการดังกล่าว เห็นว่ามีประโยชน์มาก เป็นการใช้เม็ดเงินที่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะเข้าถึงชุมชนในปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้รถใช้ถนน และการแก้ปัญหาจุดเสี่ยงให้ปลอดภัยมากขึ้น ที่ผ่านมาเราเน้นฝึกอบรมให้ความรู้กับผู้ใหญ่ แต่ไม้แก่ดัดยาก ประกอบกับเคยไปดูงานที่แคนาดา พบว่าที่นั่นเขาเน้นรณรงค์ให้ความรู้กับเด็ก การเริ่มต้นที่เด็กเพราะประโยชน์จะขยายติดตัวไป จึงเชื่อว่าหากนำมาประยุกต์เข้ากับบริบทสังคมไทย แม้จะต้องใช้เวลาในช่วงเริ่มต้น แต่เชื่อว่าระยะยาว 5-10 ปีจากนี้ จะประสบผลสำเร็จ

 

ในช่วงเริ่มต้นหนักใจว่าจะไม่สำเร็จ แต่ปรากฏว่าได้ผลดีมากเกินคาด ครู ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงได้ขยายไปยัง ศูนย์เด็กเล็ก และ ร.ร.ในเขตเทศบาล อีก 2 แห่ง ตามเป้าหมายเริ่มต้นจากนักเรียนอนุบาลขยายไปถึงชั้นประถมและมัธยม” นายประชา ทิ้งท้าย

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง