ที่ไหนบ้าง ขานรับ "Social Distancing" ระยะเสี่ยงลดโรค

สังคม
18 มี.ค. 63
13:05
2,605
Logo Thai PBS
ที่ไหนบ้าง ขานรับ "Social Distancing" ระยะเสี่ยงลดโรค
ชวนคนไทยร่วมเข้าสู่ "Social distance" การเพิ่มระยะห่างในการเข้าสังคม หลังการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ลด เลี่ยงกิจกรรมทางสังคม

วันนี้ (18 มี.ค.2563) ไทยพบผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มเป็น 212 คน แหล่งแพร่เชื้อหลักมาจากสนามมวยและสถานบันเทิงที่มีประชาชนรวมกลุ่มจำนวนมาก นำไปสู่มติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปิดชั่วคราวสถานที่เสี่ยงแพร่เชื้อ และเลื่อนสงกรานต์ รวมทั้งรณรงค์ Social distance เว้นระยะบุคคล 1-2 เมตร ลดเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19

อ่านข่าว : รู้จัก "Social distance" เพิ่มระยะห่างเข้าสังคมสู้ COVID-19

          : ไทยพบป่วยเพิ่ม 35 คน สธ.ย้ำผู้สัมผัสกักตัวลดแพร่เชื้อ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ มาตรการจากหลายหน่วยงานที่ต่างปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล เพื่อลดการแพร่เชื้อ  

ครม. ใส่หน้ากากผ้า นั่งเว้นระยะ 1 เมตร

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึง ครม.ทุกคนต่างสวมหน้าหน้ากากทางเลือก หรือ หน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัยสำหรับคนที่ป่วยแม้เพียงเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด และนั่งเว้นระยะอย่างน้อย 1 เมตร ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19

 

  

เว้นระยะห่าง ในโรงอาหาร - ลิฟต์

เช่นเดียวกับที่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้เพิ่มมาตรการ​ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 อย่างเข้มข้น เพื่อให้การใช้อาคารสถานที่มีความปลอดภัยมากที่สุด รวมถึงเพิ่มความมั่นใจให้กับพนักงานทุกคน เริ่มจากพนักงานทุกคนต้องผ่านจุดคัดกรองตรวจวัด​ไข้ ตามจุดที่กำหนดไว้ 

ลิฟต์​โดยสาร​สามารถเข้าใช้ได้คราวละไม่เกิน 4 คน เมื่อเข้าในลิฟต์​แล้วให้ยืนในจุดที่กำหนด หันหน้าเข้าผนัง เก็บมือแขนแนบลำตัว​ งดการสัมผัสให้มากที่สุด และงดการสนทนาภายในลิฟต์

ขณะที่ โรงอาหาร ได้จัดที่นั่งรับประทาน​อาหาร เว้นระยะการนั่งห่างกันประมาณ 1 เมตร​ ขอความร่วมมือ ไม่นั่งในจุดที่มีสัญญลักษณ์​กากบาท​ และเพื่อเป็นการลดความแออัดในการใช้ห้องอาหาร และให้นำภาชนะ​มาซื้ออาหารและนำไปรับประทานที่โต๊ะทำงานอีกด้วย

 

 

ขณะที่ เพจ "หมอแล็บแพนด้า" ได้โพสต์ภาพ ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พร้อมข้อความ "มาตรการมีแล้ว ทุกอย่างพร้อมแล้ว ขาดแค่คนบริจาคเลือดครับ มาเถอะ ผมอยากเจอ" แสดงให้เห็นการจัดวางเกาอี้ ไว้ให้สำหรับผู้ที่เข้ามาบริจาดเลือด โดยมีการเว้นระยะการนั่งไว้อย่างเป็นระเบียบ 

ภาพ : หมอแล็บแพนด้า

ภาพ : หมอแล็บแพนด้า

ภาพ : หมอแล็บแพนด้า

 

ภาพ : หมอแล็บแพนด้า

ภาพ : หมอแล็บแพนด้า

ภาพ : หมอแล็บแพนด้า

ยก 4  สถานการณ์ เข้าใจ  Social Distancing

ขณะที่ "แมทธิว ดีน" พิธีกรและนักแสดงชื่อดัง หนึ่งในผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้โพสต์ข้อมูลผ่านอินสตาแกรม เกี่ยวกับการรักษาระยะห่างระหว่างกัน (Social Distancing) ซึ่งเป็นคลิปจำลองการแพร่ระบาดใน 4 สถานการณ์ อ้างอิงจากบทความของ Washington Post 

อ่านข่าว : "แมทธิว ดีน" ยอมรับติด COVID-19 เตือนคนใกล้ชิดเฝ้าดูอาการ

1. ปล่อยอิสระ (Free-for-all) คือไม่ต้องทำอะไร เมื่อจำลองกับเมืองขนาด 200 คน ด้วยการใส่ผู้ป่วยเข้าไป 1 คน เราก็จะเห็นการแพร่กระบาดของผู้ป่วยออกไปในวงกว้าง ตัวกราฟสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วสักพักจำนวนผู้ป่วยก็จะค่อยๆ ลดลง ตัวกราฟก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นไปในลักษณะนี้ การติดต่อกันจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างของเมืองขนาด 200 คนและถ้าเป็นสังคมที่มีประชากรหลักล้าน นั่นหมายความว่ากว่ากราฟจะขึ้นไปพีคสุดที่มีคนติดกันหมดทั้งเมืองแล้วถึงจะเริ่มลดลง ซึ่งก็จะใช้เวลานานขึ้นอีกไม่รู้กี่เท่าตัว และนั่นจะเป็นปัญหาของทรัพยากรที่ใช้ในการจัดการว่าเราจะพร้อมแค่ไหนในช่วงที่คนติดพร้อมๆ กัน?

2. บังคับกักกัน (Forced or Attempted quarantine) เหมือนกับที่ใช้ในหูเป่ย ประเทศจีน คือปิดเมืองไปเลย เมืองไหนมีคนป่วยก็ปิด ห้ามออกไปไหน ซึ่งวิธีนี้ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นไปได้ยากกับสหรัฐฯ ทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตและกฎหมาย และเช่นกันน่าจะยากกับประเทศไทย ซึ่งวิธีนี้ได้วิเคราะห์กันแล้วว่าเป็นไปได้ยาก เพราะว่าช่วงแรกมันจะดูมีประสิทธิภาพดีมาก แต่ไม่นานมันจะเริ่มมีรูรั่วออกมาจะด้วยสาเหตุใดก็ตามและไม่นานนักมันก็จะมีคนป่วยหลุดออกจากจุดกักกันออกไปติดกับคนอื่น และก็จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเหมือนเดิม ซึ่งจะจัดการกับผู้ป่วยได้ช้าออกไปอีกเมื่อเทียบกับแบบแรก

 

3. แบบรักษาระยะห่างกันพอประมาณ (Moderate social distancing) ง่ายๆ เลย คือ อยากให้คนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่สาธารณะ อยู่ในที่คนเยอะ ๆ อยู่บ้าน อยู่กับหมากับแมวให้มากขึ้น หลักการง่าย ๆ คือเคลื่อนที่กันให้น้อยลงและลดการสัมผัสให้น้อยลง ซึ่งถ้าเป็นลักษณะนี้โอกาสของการแพร่ระบาดของไวรัสก็จะลดลง ซึ่งในแบบจำลองที่ 3 นี้เค้าได้ลองให้คน 1 ใน 4 คน เคลื่อนไหวไปสัมผัสคนอื่นๆและอีก 3/4 อยู่กับบ้าน ไม่ไปไหน ซึ่งผลที่ได้ก็คือเราจะมีคนที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่อิตาลีก็ใช้วิธีนี้อยู่ด้วยการสั่งปิดร้านอาหาร และจีนที่ปิดแหล่งรวมตัวของสาธารณะทั้งหมด และที่อเมริกาก็กำลังจะใช้วิธีเดียวกัน

4. แบบรักษาระยะห่างกันอย่างจริงจัง (Extensive social distancing) ซึ่งวิธีนี้ ก็จะคล้าย ๆ กับวิธีที่ 3 แต่เค้าลองให้เหลือแค่ 1 จาก 8 คนเท่านั้นยังเคลื่อนที่ไปสัมผัสคนอื่นอยู่ ที่เหลืออยู่กับบ้าน ไม่ต้องออกไปไหน วิธีนี้ได้ผลดีมากเพราะกราฟของผู้ติดเชื้อจะแบนราบมาก และจำนวนของคนที่ติดเชื้อก็จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ขนานไปกับผู้ที่หายเป็นปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าเราจะสามารถบริหารจัดการของทรัพยากรและเจ้าหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี! นักวิจัยไทยพัฒนาชุดตรวจ COVID-19 รู้ผลภายใน 45 นาที

Daily Report : จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา

เปิดตัว 5 กุนซือทีมแพทย์สู้ศึก COVID-19

"ไม่ปิดเมือง-ไม่ปิดประเทศ" นายกรัฐมนตรียันเดินหน้าสู้ COVID-19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง